ส่งต่อความรู้สู่สังคม! คณะบริหารธุรกิจ SPU ร่วมกับ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ ”การจัดการ Food Waste” อสม.เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการ Food Waste” ภายใต้โครงการ “สร้างเครือข่ายระหว่างคณะกับสถาบัน” ให้กับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมโรงเรียนป้อมเพชร ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ในการนี้ พ.อ.อ. สุวัฒน์ สรรพโกศลกุล รองนายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ และให้การต้อนรับคณะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.ประตูชัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.สิรินธร สินจินดาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ,คณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ SPU และทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ความว่า “ท่านรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีมาก ที่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม” ได้มาจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้มีความเข้มแข็ง”
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการ U2T for BCG ที่ คณะบริหารธุรกิจ ได้รับผิดชอบโครงการในพื้นที่ ต.ประตูชัย คือ โครงการเส้นทางการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรม ต.ประตูชัย และ โครงการระบบ Food Waste ร้านบ้านไม้ริมน้ำ แม้ว่าขณะนี้ทั้งสองโครงการได้ปิดโครงการตามกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการไปแล้ว เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อยอด โดย ดร.ณัฐธยาน์ ตรีผลา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้วางแผนร่วมกับเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนสังคมตามแนวทาง BCG ที่มุ่งตอบ SDGs และเป็นที่มาของกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการ Food Waste
ดร.ณัฐธยาน์ ตรีผลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กิจกรรมของโครงการเป็นการขยายผลจากโครงการ “ระบบ Food Waste ร้านบ้านไม้ริมน้ำ” ที่เดิมนั้นนำขยะจากเปลือกกุ้งแม่น้ำจากร้านอาหารบ้านไม้ริมน้ำ มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำเป็น “น้ำหมักชีวภาพจากเปลือกกุ้งแม่น้ำ” สู่ “การทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมะนาว” ซึ่งต้องขอบพระคุณ พี่ไก่ เจ้าของร้านบ้านไม้ริมน้ำ ที่ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกกุ้งแม่น้ำ มาต่อยอดเพื่อลดขยะจากอาหารของร้านบ้านไม้ริมน้ำ โดยพี่ไก่ ได้นำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมะนาว ไปใช้สำหรับการทำความสะอาดห้องน้ำ สุขภัณฑ์และชักโครก ที่ต้องบอกว่าน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมะนาว กำจัดกลิ่นในห้องน้ำได้ผลอย่างมาก จนตอนนี้ร้านบ้านไม้ริมน้ำ ไม่ต้องซื้อน้ำยาล้างห้องน้ำมาใช้แล้ว เท่ากับเป็นการลดขยะจากอาหารและลดต้นทุนในการจัดการร้าน
การจัดกิจกรรมในวันนี้ มีการอบรมให้ความรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ รวมทั้งการนำขยะจากอาหารไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวคิด Upcycle โดย ดร.ณัฐธยาน์ ตรีผลา แล้ว ยังมีการให้ความรู้กับพี่ ๆ อสม. เกี่ยวกับวิธีการจัดการขยะ โดย ดร..กนกอร อัมพรายน์ นักวิจัยและผู้จัดการคุณภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในการนี้ ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้นำกรณีศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะในประเทศไทย มาถ่ายทอดยังผู้เข้าอบรม ซึ่งได้รับความสนใจและมีการซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ คุณอนุรักษ์ สมสาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการวิชาการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Upcycle จากขยะมาแสดงให้ผู้เข้าอบรม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ปิดท้ายภาคเช้าด้วยกิจกรรมการคัดแยกขยะ นำโดย น้อง ๆ ทีมคณะกรรมการนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ที่เรียกได้ว่าสร้างสีสันให้พี่ ๆ ผู้เข้าอบรมได้ทบทวนความรู้ภาคทฤษฎีกันอย่างสนุกสนาน
ปิดท้ายกิจกรรมในวันนี้ด้วยการศึกษาดูงาน “การทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมะนาว” ที่ บ้านไม้ริมน้ำ ในครั้งนี้ เราได้ให้พี่นุ้ย พนักงานของร้านที่รับผิดชอบเรื่องน้ำหมักมาให้ความรู้อย่างละเอียดยิบ โดยมี ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ดร.กนกอร อัมพรายน์ ให้ข้อมูลเสริมเชิงวิชาการเป็นระยะ เรียกว่า ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้กับขยะอาหารของบ้านได้เลยทีเดียว
“ขยะ” เรื่องที่หลายคนอาจมองว่า “เป็นปัญหาที่รัฐต้องจัดการ” ที่จริงแล้วเป็นปัญหาที่มีและสั่งสมมานาน ปัญหานี้คงไม่หมดไปจากสังคมได้โดยง่าย การสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการขยะ ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง … คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนให้งดงาม น่าอยู่ .. เพราะพลังร่วมคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน