ความรู้สึกหลังใช้งาน Galaxy S6 edge Black Sapphire (1)

Galaxy S6 edge Cover

ครึ่งปีแรกของปี 2015 เรามีโอกาสได้เห็นสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจจากฝั่งเกาหลีพร้อมกันถึงสองรุ่น ที่เปิดตัวก่อนคือ Galaxy S6 และ Galaxy S6 edge กับอีกรุ่นคือ LG G4 ที่มาพร้อมกับฝาหลังแบบหนัง

กระนั้นในบทความนี้มิได้ตั้งใจพูดถึง LG G4 เนื่องจากว่า ไม่มีเครื่องให้ทดสอบเป็นกิจลักษณะ จะมีก็เพียงแต่ Galaxy S6 edge ซึ่งมีโอกาสได้ใช้งาน และซื้อหามันมาเป็นกรรมสิทธิ์ถาวรเรียบร้อย ซึ่งผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งของซัมซุงในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา นั่นคือ แฟลกชิปช่วงต้นปี และปลายปี ทั้ง S Series และ Note Series ต่างถูกบดด้วยรัศมีกิมมิคที่เน้นความโค้งเข้าให้แล้ว

ใช่ครับ! เพราะ Galaxy Note 4 มีแฝดที่คลอดคลานตามกันมาคือ Galaxy Note edge ส่วน Galaxy S6 มี Galaxy S6 edge ร่วมตีขนาบข้าง อันที่จริงก็พูดยากอยู่เหมือนกัน เพราะตระกูล edge มันมีความน่าสนใจในตัว โอเคครับว่า ระหว่าง Galaxy Note 4 กับ Galaxy Note Edge อาจไม่เห็นความแตกต่างกันมากนัก หากแต่เป็น Galaxy S6 และ Galaxy S6 edge ผมคิดว่า มันมีความต่างอย่างน่าสนใจ ชนิดคาดไม่ถึง

ประการแรกต้องบอกอย่างจริงใจครับว่า Galaxy S6 edge น่าจะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของซัมซุงที่รู้สึกว่า “สวย” งามมาก โดยเริ่มจากด้านหน้าของตัวเครื่องที่บริเวณสองขอบซ้าย-ขวา เพิ่มมิติมุมมอง และการใช้งานอย่างน่าสนใจ ซึ่งขอบด้านซ้าย-ขวา ตรงนี้ยังช่วยทำให้ “ความบาง” ของ Galaxy S6 edge บางได้ใจ อีกทั้งความบางดังกล่าวยังไปสมทบกับขอบทั้ง 4 ด้าน ทำให้ตัวเครื่องมีทรวดทรงน่าใช้งาน

อย่างไรก็ตามเพื่อแสดงความจริงใจ ผมคงต้องบอกอีกว่า งานดีไซน์ Galaxy S6 edge เป็นไปในรูปแบบ Inspried and Developed เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า Galaxy S6 edge ได้แรงบันดาลใจจาก iPhone 6 เป็นแน่แท้ ทั้งจากสีของขอบด้านข้าง และด้านล่าง การจัดวางของลำโพง คล้ายคลึงกันมาก ซึ่งระหว่างการใช้งานในขณะที่หลงละเมออยู่กับความสวยงามของขอบ เกิดข้อสงสัยบางประการในเชิงวิศวกรรมว่า ด้วยเหตุอันใดตัวเครื่องถึงมีอุณหภูมิที่สูงมากระหว่างการใช้งาน (เป็นไปได้หรือไม่ว่า ด้วยงานออกแบบที่เน้นความบางนี้ ส่งผลเกี่ยวเนื่องไปกับการจัดการความร้อนหรือไม่ ถ้าใครมีคำตอบรบกวนอธิบายด้วยครับ ขอบคุณล่วงหน้า)

จะว่าไป “ความร้อน” ของตัวเครื่องเป็นอุปสรรคการใช้งานไม่น้อยครับ เนื่องจากว่า ผมเป็นคนที่ชอบอ่านอีบุ๊กบนสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งระยะเวลานั้น ก็สร้างความระอุขึ้นที่มือทั้งสองข้าง จึงทำให้เหตุนี้เป็นหนึ่งในข้อเสียของรุ่นนี้โดยปริยาย

นอกเหนือจากเรื่องความร้อนแล้ว “ความบาง” ที่ทำให้เกิดความสวยงาม แต่ก็ก่อให้เกิดอุปสรรคบางประการเช่นกัน ทั้งนี้ผมคงต้องบอกก่อนว่า Galaxy S6 edge ที่ผมใช้งานอยู่นั้น มิได้ใส่เคสตกแต่งเพิ่มความสวยงามแต่อย่างใด (เพราะยังหาที่ถูกใจไม่ได้) จึงทำให้ขณะใช้เป็นการใช้ตัวเครื่องแบบตัวเปล่าเล่าเปลือย ทำให้มีโอกาสเกิดการลื่นที่พร้อมไหลหลุดมือ (แม้แต่ iPhone 6 Plus ก็เป็นครับ) ผมเดาเอาว่า ตัวดีไซน์ยังขาดจุดพักมือเพื่อให้สอดรับเข้ากับอุ้งมืออยู่บ้าง ทำให้การใช้งานต้องใช้อย่างระมัดระวังพอสมควร

จุดสุดท้ายที่อยากพูดถึงก่อนจะจบบทความ Galaxy S6 edge ในพาร์ทแรก นั่นคือ การอัปเกรดระบบสแกนลายนิ้วมือ เมื่อครั้งที่ Galaxy S5 เปิดตัวขึ้นมานั้น เป็นการเปิดตัวที่มาพร้อมกับระบบสแกนลายนิ้วมือ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้ใช้ Galaxy S5 เกิดความฉงนอยู่ตรงที่ การสแกนเครื่องจะต้องรูดจากด้านบนของปุ่ม “Home” ลงมายังเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการใช้งานที่แปลกประหลาดไม่น้อย เพราะโดยปกติเราเข้าใจกันเองว่า เพียงแค่แตะนิ้วครั้งเดียวก็น่าจะเพียงพอต่อการปลดล็อก

S6 edge home

แต่ใน Galaxy S6 edge ปัญหาที่มีมาแต่ครั้งก่อน ได้รับการแก้ไข ระบบการสแกนลายนิ้วมือ อ่านได้อย่างรวดเร็ว มิต้องใช้การรูดจากด้านบนลงหาเซ็นเซอร์เหมือนรุ่นก่อนอีก พร้อมกันนี้ตั้งค่าระบบสแกนลายนิ้วมือ ยังออกแบบมาให้ตั้งค่านิ้วได้มากกว่าหนึ่งนิ้ว ซึ่งน่าจะสอดรับกับทุกๆ อิริยาบทในการใช้งานที่บางคราวอาจไม่สามารถใช้นิ้วมือข้างที่ถนัดได้

อย่างไรก็ดี ฟังก์ชันสแกนลายนิ้วมือของ Galaxy S6 edge ยังไม่อาจใช้ได้หลากหลาย อีกทั้งความสามารถนี้ก็เริ่มดาษเดื่อนในวงการเต็มที แต่เมื่อมีการใช้กันมากขึ้น มูลค่าทางเทคโนโลยีน่าจะลดต่ำลง และได้เห็นมากขึ้นในสมาร์ทโฟนรุ่นระดับกลางในอนาคตอันใกล้