[รายงานพิเศษ] Game มหันตภัยร้ายของสังคมไทยจริงหรือ?

Game
เกม มหันตภัยร้ายของสังคมไทยจริงหรือ?

เกมคือสิ่งที่มอมเมาเด็ก?

บนหน้าไทม์ไลน์ของเพจหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นเพจที่ให้ความรู้ในการเลี้ยงดูบุตร ที่มีแฟนคลับมากมายพอสมควร ได้พูดถึงเรื่องของเกม โดยเฉพาะการให้คำแนะนำพ่อแม่ที่มีลูกให้หลีกเลี่ยงการได้ทำความรู้จักกับเกม

อันที่จริงประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมาต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งทุกฝ่ายก็จะนำเสนอแนวคิดในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออกมา แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไง ใครจะนำเสนออะไรมา เรื่องของเกม เด็ก และผู้ใหญ่ในสังคมไทยก็จะไม่มีวันสิ้นสุด

เด็กติดเกม: เด็กผิด เกมผิด ใครผิด หรือไม่มีใครผิด?

Game

คำว่าติด ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า addicted ว่ากันตามจริงแล้ว คำนี้มักถูกใช้ในความหมายไปในทางที่ไม่ดีนัก เช่น เด็กติดยา เด็กติดมือถือ ติดเซ็กส์ ติดเพื่อน ติดเที่ยว ทั้งหมดนั้นเราอาจกล่าวรวมๆ ได้เลยว่า สภาวะการ ‘ติด’ เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างแน่นอน

เมื่อเราลองคิดอย่างถ้วนถี่แล้ว สภาวะที่เด็กติดเกมได้นั้น มันคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นปลายทางต่างหาก สิ่งที่เราต้องมองหากลับเป็นสิ่งที่น้อยคนนักในสังคมไทยจะพูดถึงก็คือ ทำไมเด็กถึงติดเกม?

ผมคิดว่า การที่เด็กจะติดเกมได้นั้น มีอยู่มากมายหลายองค์ประกอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เพื่อน รวมถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงทำให้การใช้ชีวิตในสังคมมีความยากมากขึ้น พ่อแม่มีเวลาในการตามติดเลี้ยงดูลูกของตัวเองได้น้อยลง จากอาชีพการงาน การเติบโตด้านเทคโนโลยีที่สามารถชักจูงให้หันเหออกจากเส้นทางที่ควรจะเป็น สิ่งแวดล้อมภายนอกที่ปลุกเร้า อีกทั้งการพูดคนละเรื่องกับเพื่อนที่โรงเรียนก็อาจทำให้เด็กจำเป็นต้องหาเรื่องคุยกับเพื่อนที่โรงเรียนเพื่อการเข้าสังคมที่ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนเสริม และส่วนที่ผลักดันให้เด็กติดเกม

อย่างไรก็ดี หากเราลองย้อนกลับไปในมองมุมกลับ ต่อให้เด็กไม่ติดเกมแต่ก็ยังมีโอกาสที่จะติดสิ่งอื่นๆ ได้อีกมิใช่หรือ?

Game

เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกครั้งที่เราพูดถึงการติดเกมของเด็ก ควรจะต้องทำความเข้าใจใหม่ให้ดีว่า เกมไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายที่จ้องจะมอมเมาชีวิตวันข้างหน้าของเยาวชน แต่เด็กมีโอกาสที่จะติดในสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกมได้เช่นกัน สถาบันครอบครัวต่างหากที่จะต้องเอาใจใส่ ถามไถ่ ทำความเข้าใจ บอกกล่าว ตักเตือน ชี้สิ่งที่ดีและไม่ดีของเกม แล้วเดินไปพร้อมกับลูกของคุณเองจะดีกว่า แทนที่จะโทษเกมเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า?

เกม: เครื่องมือวุฒิภาวะความเป็นพ่อแม่

Game

ถึงกระนั้น เราก็ต้องทำความเข้าใจเช่นกันว่า ไม่ใช่ทุกเกมในโลกเป็นเกมที่เหมาะสมกับเด็กทุกคน หลายเกมที่ผลิตออกมาวางจำหน่าย มีเป้าหมายที่สร้างมาเพื่อให้ผู้ใหญ่ ที่มีวุฒิภาวะเล่นเท่านั้น ซึ่งในโลกตะวันตกจึงใช้การแบ่งผู้เล่นจากเรตติ้ง เพื่อคัดกรองผู้เล่นที่อายุน้อยออกจากเกมที่มีเรตติ้งค่อนข้างรุนแรง ซึ่งในประเทศไทย การกวดขันด้านเรตติ้ง ยังทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้หลายครั้งผู้เล่นอายุน้อยมักจะเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ดี ระบบเรตติ้งมิใช่สิ่งที่เป็นประกาศิตเด็ดขาด เพราะระบบเรตติ้งก็ยังมีช่องโหว่ เนื่องจากระบบเรตติ้งเป็นระบบที่ต้องอาศัยหลักความเชื่อใจเป็นสำคัญ เช่น ใน Account สำหรับการซื้อเกมคุณจะแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ได้ยังไงว่า เกมที่คุณวางจำหน่ายออกไปนั้น ไม่มีเด็กที่ต่ำกว่าเรตติ้งซื้อไปเล่น

ถึงที่สุดแล้วระบบเรตติ้งก็ยังต้องอาศัยการถ่วงดุล (Check and Balance) ทั้งจากผู้ให้บริการเองที่จะต้องคอยสอดส่องว่า มีเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์เล่นเกมที่ไม่เหมาะสมรึเปล่า ขณะเดียวกันพ่อแม่ที่อนุญาตให้ลูกได้เล่นเกมได้สอดส่องดีพอแล้วหรือยังว่า ลูกของคุณกำลังเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัยอยู่รึเปล่า? ถ้าใช่คนเป็นพ่อแม่ควรจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่วัดบทบาทความเป็นพ่อแม่คนเช่นกัน

เกม: สื่อบันเทิงรูปแบบใหม่?

Game
Spacewar เกมแรกของโลก

ที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีทัศนคติในแง่ลบกับเกม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เกมก็คือความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่ายังไม่ได้รับการยอมรับว่า เป็นความบันเทิงกระแสหลัก เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ ละคร เพลง

ในมุมมองของผู้เขียนมองว่า การที่เกมไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ในสังคมนั่นเป็นเพราะ คำว่าเกม คือ สิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบสื่อที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นไม่นาน ในรายงานของเว็บไซต์ Dailymail ระบุว่า เกมคอมพิวเตอร์เกมแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วโดยนักศึกษา MIT ในชื่อเกม Spacewar [1]

ขณะเดียวกันสื่อบันเทิงชนิดอื่นๆ เช่น เพลง ละคร ภาพยนตร์ หนังสือ ต่างมีอายุในรูปแบบของความเป็นสื่อไม่ต่ำกว่า 100 ปี นั่นจึงทำให้ช่วงอายุวัยของคนที่มีอายุมากกว่า อย่างพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของคนเล่นเกม จึงไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ทันต่อการได้ทำความรู้จักเกม การไม่ยอมรับของเกมย่อมมีแน่ เพราะเกมไม่ใช่สื่อความบันเทิงที่เขาเคยรู้จัก การกระทบกระทั่งของสองขั้วความคิดของคนเล่นเกมที่มีอายุน้อยกับคนที่ไม่เคยเล่นเกมมาก่อน จึงเป็นช่องว่างของกันและกัน

แล้วควรจะทำยังไง?

ในเรื่องนี้สิ่งที่ควรจะต้องทำเป็นอย่างแรก คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าสู่การประนีประนอม (compromise) ทั้งสองฝ่ายต่างต้องนำเสนอมุมมองที่ตัวเองมีต่อเกมอย่างสันติวิธี เพื่อที่ทำให้ฝ่ายต่างเข้าใจในปริบทที่แตกต่างกันของคำว่า ‘เกม’ 

ทั้งนี้ที่ผมใช้คำว่า สันติวิธี เพราะในหลายครั้งเรามักจะเห็นผู้เล่นเกมมักจะใช้คำผรุสวาทเข้าหาคนที่เห็นต่างในด้านเกมด้วย Hate Speech เพราะฉะนั้นแล้ว การใช้คำที่เป็น Hate Speech ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้ที่เห็นต่างในเรื่องของเกม มีทัศนคติในเชิงลบต่อเกมยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามการประนีประนอมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของเกม อาจไม่ได้มีแค่สองฝ่าย อาจจะแบ่งออกเป็นสามฝ่ายหรือมากกว่านั้นก็ได้ ไม่ว่ายังไงการชักจูงความคิด และนำเสนอในสิ่งที่เชื่อจึงยังจำเป็นต้องมีต่อกัน

เกม: มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

Game

เรามักได้ยินคำกล่าวเสมอๆ ว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ

ในเรื่องของเกมก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน การเล่นเกมที่ไม่เหมาะกับวัย การเล่นเกมที่มากเกินขอบเขต (ของตัวเอง) ก็ส่งผลให้ภารกิจที่คุณต้องทำเสียหายได้ ขณะเดียวกันเกมก็มีด้านที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการจุดประกายให้มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ การได้รู้จักสังคมใหม่ๆ การนำสิ่งที่ดีในเกมมาปรับใช้ มีความรู้ด้านภาษา หรือพัฒนาการด้านอื่นๆ

การมองเกมในมิติเดียว (ว่าดีเกินไปและเลวเกินไป) ทำให้คุณต้องพลาดโอกาสในการมีมุมมองที่แตกต่าง และหลากหลาย ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้าง ขยายขอบเขตการเรียนรู้ของตัวคุณเองไป

ห้ามเล่นเกม: แค่วิธีหนึ่งในการเลี้ยงดู

สำหรับผู้เขียน ยังไม่ถึงจุดที่มีสถานะของความเป็นพ่อ มองว่า การห้ามเล่นเกม (ตามที่เพจดังกล่าวสนับสนุน) ผมถือว่า เป็นวิธีหนึ่งในการเลี้ยงดูบุตร

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว มีปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน วิธีการของบ้านหนึ่ง อาจใช้เหมาะสมกับบ้านหลังที่สอง แต่ใช้ไม่ได้ผลกับบ้านหลังที่ 3 ฉะนั้นแล้วรูปแบบการเลี้ยงดูด้วยวิธีการห้ามเล่นเกมสามารถทำได้ในบางครอบครัว แต่อาจไม่สามารถใช้กับครอบครัวอื่น

ฉะนั้นการให้เหตุผลว่า ครอบครัวไหนที่ให้ลูกตัวเองเล่นเกม เป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่ผิด จึงเป็นการให้คำแนะนำที่ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งนี้ก็จะส่งผลลัพธ์ต่อไปยังลูกหลานของคุณเอง การเรียนรู้ ทำความเข้าใจ นำไปใช้ให้เหมาะสมต่างหากจะเป็นการเลี้ยงลูกที่ดีกว่า

ทิศทางของเกมในประเทศไทย

game

ในท้ายที่สุดผู้เขียนมองว่า การเปลี่ยนช่วงอายุวัยกำลังจะมา กลุ่มคนที่เคยเป็นเด็กในอดีตกำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งถ้าผู้ใหญ่กลุ่มนี้เคยผ่านช่วงชีวิตในวัยเด็กที่เคยเป็นคนเล่นเกมมาก่อน น่าสนใจว่า พวกเขาเหล่านี้จะมีมุมมองต่อเกมในรูปแบบยังไง

ในความเห็นผมเชื่อว่า ทิศทางของเกมน่าจะเป็นบวก คนเล่นเกมที่กำลังจะมีครอบครัว มีลูกของตัวเอง น่าจะมีมุมมองที่เข้าใจ และเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสที่พวกเขาเหล่านี้จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของเกมได้รับการยอมรับ พูดถึงในมุมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ และน่าจะทำให้เกมมีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้ดีขึ้น

อ้างอิง:

[1] DailyMail