Lazada

สิทธิในอินเทอร์เน็ตสู่ Right to be Forgotten ถึง Revenge Porn (1)

20140517_LDD001_0

ก่อนที่เราเริ่มหยิบสมาร์ทโฟนเพื่อทวีตข้อความที่อยากส่งต่อไปยังคนทั้งโลก ก่อนที่เราจะหยิบสมาร์ทโฟนเพื่อตั้งสเตตัสบอกถึงความรู้สึกถึงอารมณ์ในเวลานี้ และก่อนที่เราจะพบปะเพื่อนฝูงสำหรับการแฮงก์เอาต์ในค่ำคืนนี้

ผมมีคำถามว่า เรามองเห็นถึงความต่างระหว่างโลกออฟไลน์ และโลกออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ?

ในยุคที่เราสามารถสื่อสารกับใครก็ได้ มีการผสมปนเประหว่างออนไลน์และออฟไลน์ จนแทบไม่มีความแตกต่าง อีกทั้งมันยังใกล้เคียงที่จะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน คนรัก ที่เราได้มีโอกาสสร้างสัมพันธ์มีการซ้อนทับอย่างน่าสนใจ คนรู้จักของเราในเวลานี้อาจมาจากโลกออนไลน์ ก่อนที่จะทำความรู้จักกันในชีวิตจริง หรือเพื่อนที่รู้จักกันในชีวิตจริง ก็ถูกนำไปต่อยอดในโลกออนไลน์ ดังนั้นแล้วตัวตนของเราต่างก็เป็นตัวตนที่เกิดขึ้นจริงในโลกเสมือนและโลกจริง ราวกับว่า มันเป็นโลกที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

กระนั้นการเกิดขึ้นของโลกสองฝั่ง กลับยังมีส่วนที่แรเงา ที่มันยังไม่ถูกซ้อนทับ จึงทำให้เราเห็นได้ถึงความต่างที่่เป็นสิ่งสำคัญจนไม่อาจมองข้ามได้

สิ่งสำคัญที่ผมกำลังจะกล่าวถึง นั่นคือ เรื่องของการมีสิทธิและเสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ต

ถ้าเราเปรียบเอาตัวเองออกจากโลกออนไลน์ สู่โลกออฟไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ จะได้เห็นถึงพลวัตรที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทยก็ดี หรือจะเป็นต่างประเทศก็ดี ตัวอย่างเช่นในอดีตสิทธิในการเลือกตั้ง ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้มีการศึกษาดี มีฐานะ และต้องเป็นบุรุษ ต่อมายุคหนึ่งสตรีนิยมได้มีการเรียกร้องขอสิทธิการเลือกตั้ง ล่วงมาถึงสหรัฐอเมริการัฐทางใต้ ก็เคยมีวัฒนธรรมห้ามคนผิวดำทานอาหารร้านเดียวกับคนผิวขาว แม้แต่รถประจำทางก็ยังห้ามใช้ร่วมกัน

นั่นคือ การต่อสู้เชิงเสรีภาพ และว่าด้วยสิทธิในอดีต

ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่า เราแต่ล้วนอาศัยในโลกออนไลน์ แต่เราลองสังเกตดูบ้างไหมครับว่า เราแทบจะไม่มีอิสระบนโลกอินเทอร์เน็ต

เรามีโอกาสถูกค้นหาผ่านเสิร์ชเอนจิ้นได้โดยง่ายตั้งแต่การย่างก้าวนำพาตัวเองเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทุกเหตุการณ์ถูกบันทึกไว้ใทั้งเรื่องราวที่ดี หรือเรื่องราวที่แย่

แน่นอนว่า หากเป็นเรื่องราวที่ดี ที่น่าภาคภูมิใจ เราก็คงรู้สึกดีกับมัน และอาจไม่รู้สึกยินร้ายกับการทวงถามเสรีภาพในโลกใบที่สอง

แต่หากว่า เรื่องราวโลกอินเทอร์เน็ตกลับเป็นเรื่องที่น่าอาย และชวนรู้สึกแย่ เป็นสิ่งที่เราต้องการฝังมันไปกับอดีต ไม่ต้องการให้มันถูกขุดคุ้ย ค้นเจออีกแล้ว ตลอดชั่วชีวิตนี้

นี่คือเรื่องจริง ที่ประชากรในโลกอินเทอร์เน็ตเริ่มถามหา ซึ่งสืบเนื่องตั้งแต่ปี 2012

คราวนั้นมีชาวสเปนคนหนึ่งชื่อ มาริโอ กอนซาเลซ เริ่มรู้สึกว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตสามารถค้นหาสิ่งใดก็ได้ เพียงแค่แค่ชั่วอึดใจ เนื้อหาที่ชาวสแปนิชผู้นี้ต้องการยุติมันเอาไว้ เรื่องของเรื่องคือ ในอดีตกอนซาเลซเคยเป็นคนล้มละลาย แต่ปัจจุบันคุณภาพชีวิตกำลังดีขึ้น และหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลสย

right-to-be-forgotten

แต่ข่าวการล้มละลายของก็ยังคงติดแน่นฝังตรึงในโลกอินเทอร์เน็ต จึงเกิดความรู้สึกว่า เรื่องพวกนี้มันควรจะสูญหายไป ผ่านแนวคิดที่ว่า มนุษย์ควรมีสิทธิ์ที่จะลืม หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Right to be forgotten อันเปรียบเสมือนความจำของคนที่สามารถลืมเลือนได้ตามกาลเวลา

ยกตัวอย่างใกล้เข้ามาอีกหน่อย เมื่อพูดถึงชีวิตคนทำงาน ก่อนที่จะถูกบรรจุเข้าสู่บริษัท แผนกทรัพยากรบุคคล อาจใช้อินเทอร์เน็ตร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือคัดกรองการรับพนักงานเข้าสู่ระบบ ซึ่งเหมือนกับที่ผมบอกไปว่า หากเรื่องราวบนโลกอินเทอร์เน็ตของคุณ คลีน สะอาด ก็คงไม่มีปัญหา

หากในนั้น มีเรื่องราวแย่ๆ ที่แม้แต่คุณยังลืมไปแล้ว กลับเป็นฝ่ายบุคคลเป็นผู้พบเจอเช่นนั้น จะรู้สึกแสดงออกอย่างไร ?

คอนเซปต์สิทธิ์ที่จะลืมเลยถูกพูดถึงมากขึ้น

ตัวแปรที่สำคัญของสิทธิ์ที่จะลืม ถูกพูดขึ้นอย่างมากในทวีปยุโรป จนถึงขั้นที่ศาลของอียู ต้องออกโรงพิจารณาที่ใช้เวลาร่วมสองปี กว่าที่จะตัดสินออกมาว่า ความจำของมนุษย์ควรเป็นสิ่งที่สามารถถูกเลือนตามกาลเวลา

เงื่อนไขที่ศาลสูงยุโรป ระบุออกมาเป็นการบอกว่า บรรดาเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้น จะต้องกระทำการลบลิงก์ที่มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาที่มนุษย์ควรจะลืมเลือน เพียงแต่ว่า สิ่งที่ EU บอกมิได้หมายรวมว่า จะต้องลบตัวเนื้อหาออกไป พูดง่ายๆ คือ เนื้อหายังอยู่ แต่ลิงก์สำหรับการค้นหาเรื่องนั้นมันหายไปแล้ว

หากมองดูถึงการกระทำ มองดูถึงเหตุและผล คำสั่งของ EU ก็ถือโอเค

ทว่าทุกการกระทำล้วนมีผลสองด้านเสมอๆ คำตัดสินของ EU มีช่องโหว่อยู่เหมือนกัน เพราะมันใกล้เคียงกับการเข้าไปเซ็นเซอร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ดูเป็นการริดรอนต่อสิทธิที่พึงจะรับรู้ของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ในกรณีที่เกิดเรื่ออื้อฉาวของคนดัง เช่น นักการเมือง นักแสดง หรือนักธุรกิจ

ถ้ามองอีกทางหนึ่งเสิร์ชเอนจิ้น เป็นเพียงผู้แสดงผลข้อมูลที่รวบรวมเอาเนื้อหาจากบ็อตของกูเกิลที่วิ่งเก็บข้อมูล แล้วนำเสนอต่อผู้ต้องการข้อมูล ประเด็นนี้ จึงกลายเป็นการชักเย่อทางความคิดของคนสองฝั่ง ซึ่งแต่ละฝั่งก็มีเหตุผลที่ฟังได้ใกล้เคียงกัน

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ประชาชนจะเริ่มใช้ สิทธิ์ที่คิดว่าพึงมี มาเป็น ‘สิทธิ์ที่พึงลืม’ คราวนี้ภาระหนักย่อมต้องตกมายังเสิร์ชเอนจิ้น ที่จะต้องเขียนอัลกอริทึ่มใหม่เชื่อมให้ถูกกฎหมาย แถมยังต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น โดยเฉพาะทางการเงิน และบุคคล ไปจนถึงการตั้งมาตรฐาน case by case ว่า กรณีที่จะได้รับสิทธิ์ และกรณีไหนที่จะไม่ได้รับสิทธิ์ชนิดที่ว่าต้องไม่มีข้อโต้แย้งได้

สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืม นั่นก็คือ โลกใบนี้ไม่ได้มีเสิร์ชเอนจิ้นแค่ 3-4 ตัว ซึ่งเสิร์ชเอนจิ้นที่ไม่ได้ถูกจัดเป็นมือวางอันดับต้นๆ แน่นอนว่า คงไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะรองรับตัวเองให้เข้ากับข้อกฎหมาย ลงท้ายแบบนี้จะต้องทำยังไง เพื่อให้มันพอดีกับสิทธิ และเสรีภาพที่พึงรู้ และไม่พึงรู้

ภาพ: 1, 2