Lazada

[PR] องค์กรอาชญากรรมทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสูญเงินกว่า

image003

งานวิจัยชิ้นใหม่ของไอดีซี (IDC) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เผยว่า มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2557 นี้ องค์กรทั่วโลกจะต้องสูญเงินมูลค่าเกือบ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากมัลแวร์ซึ่งติดมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์  โดยแยกเป็น 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการจัดการกับเรื่องระบบความปลอดภัย และอีก 364,000 ล้านเหรียญ สหรัฐกับการแก้ปัญหาการละเมิดข้อมูลสำคัญ  ส่วนในฝั่งของผู้ใช้งานเองก็มีการคาดการณ์ว่าจะต้องเสียเงินสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสูญเสียเวลาถึง 1,200 ล้านชั่วโมงในปีนี้ไปกับภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์และการซ่อมแซมที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยมีสาเหตุมาจากมัลแวร์ที่ติดมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง

การศึกษาดังกล่าวซึ่งมีหัวข้อว่า “ความเกี่ยวข้องระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และการละเมิดระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์” (“The Link Between Pirated Software and Cybersecurity Breaches” ) เผยให้เห็นว่า ร้อยละ 60 ของผู้บริโภคที่ร่วมในการสำรวจ กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดคือการสูญเสียไฟล์ หรือข้อมูลส่วนตัว รองลงมาคือการลักลอบทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 51) และการลักลอบเข้าอีเมล เครือข่ายสังคมออนไลน์ และบัญชีธนาคาร (ร้อยละ 50) อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 43 ของผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านั้นกลับไม่ได้ทำการอัพเดทโปรแกรมป้องกันไวรัส ซึ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เสี่ยงต่อการถูกคุกคามโดยอาชญากรไซเบอร์

เจ้าหน้าที่ภาครัฐในประเทศต่างๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอาชญากรรมไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศของตน โดยจากรายงานชิ้นนี้ รัฐบาลในหลายประเทศ กังวลเรื่องการสูญเสียความลับทางการค้าและข้อมูลการแข่งขันทางธุรกิจมากที่สุด (ร้อยละ 59)  รองลงมาคือการลักลอบเข้าถึงข้อมูลลับของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 55) และการโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบสาธารณูปโภคสำคัญของประเทศ (ร้อยละ 55) ทั้งนี้ มีการประมาณการว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ อาจสูญเงินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมัลแวร์ที่มาจากซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

“อาชญากรไซเบอร์กำลังฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ซึ่งส่งผลเสียคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาลสำหรับทุกคน   เนื่องจากมีเงินเป็นสิ่งจูงใจ จึงทำให้อาชญากรเหล่านี้พยายาม ค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเจาะเข้าเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์เพื่อโจรกรรมข้อมูลที่ต้องการ เช่น อัตลักษณ์บุคคล (identity)  รหัสผ่านต่างๆ และเงินของคุณ  นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ป้องกันภัยจากอาชญกรรมไซเบอร์ ของไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Cybercrime Center ขึ้นมา โดยมุ่งเน้นที่จะกำจัดอันตรายเหล่านี้ให้หมดไป และเพื่อที่จะเก็บรักษาข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ให้ปลอดภัย  และเมื่อการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ทำได้ยากขึ้นแล้ว แรงจูงใจสำหรับอาชญากรก็จะลดลงตามไปด้วย” นายเดวิด ฟินน์ ผู้อำนวยการบริหารและที่ปรึกษาร่วมของ ศูนย์ป้องกันภัยจากอาชญกรรมไซเบอร์ ของไมโครซอฟท์ กล่าว

ผลการวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Play It Safe” ของไมโครซอฟท์  ซึ่งเป็นโครงการระดับโลก ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความตระหนักมากขึ้น เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันระหว่างมัลแวร์และการละเมิดลิขสิทธิ์  โดยมีประเด็นสำคัญเพิ่มเติมจากการสำรวจ ดังนี้:

  • ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เกือบ 2 ใน 3 (315,000ล้านเหรียญสหรัฐ) จะตกอยู่ในมือขององค์กรอาชญากรรม
  • ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานประกอบการต่างๆ เกือบร้อยละ 20 ถูกติดตั้งโดยพนักงาน
  • ผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 28  กล่าวว่าการละเมิดระบบความปลอดภัยเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบเครือข่าย คอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ล่ม โดยเกิดขึ้นทุกๆ 2 หรือ 3 เดือน หรืออาจบ่อยครั้งกว่านั้น  โดยร้อยละ 65 ของเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับมัลแวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ในองค์กร

“การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็เหมือนการเสี่ยงดวง คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคุณจะเจอปัญหาเมื่อไร และปัญหานั้นอาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงก็ได้ ความเสียหายทางการเงินนั้นยิ่งใหญ่มากถึงขนาดที่ว่า สามารถทำให้ธุรกิจที่เคยสร้างผลกำไรต้องสั่นคลอนไปเลยทีเดียว การซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว อย่างน้อย คุณก็แน่ใจได้ว่า มัลแวร์หรืออันตรายที่ไม่ได้รับเชิญจะไม่ได้ติดมาด้วย”   นายจอห์น แกนซ์ หัวหน้านักวิจัยของไอดีซีกล่าว

“ในประเทศไทย ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 76 ของผู้ใช้งาน กลัวการสูญหายของไฟล์ หรือข้อมูลส่วนตัวที่สุด เราจึงย้ำเตือนลูกค้าและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้ตั้งคำถาม หมั่นสำรวจแพ็คเกจสินค้า  สังเกตราคาที่ “คุ้มค่าจนเกินความเป็นจริง” และเลือกใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาได้รับในสิ่งคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป และสามารถป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้ ความจริงที่เราพบทุกวันนี้คือ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และสร้างปัญหาในวงกว้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ยังโชคดีที่เราสามารถรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ โดยอาศัยเครื่องมือ เทคโนโลยี และทีมงานที่มีศักยภาพสูง” นายแมทเทียว มิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าว

จากการศึกษาตัวอย่างของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งซื้อคอมพิวเตอร์ครื่องใหม่จำนวน 203 เครื่อง ที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์  พบว่าร้อยละ 61 ของกลุ่มตัวอย่างมีมัลแวร์ติดมาด้วย  ไม่ว่าจะเป็น โทรจัน (Trojans) เวิร์ม (worms) ไวรัส (virus) แฮคทูลส์ (hacktools) รูทคิท (rootkit) และแอดแวร์ (adware) ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจที่คอมพิวเตอร์ซึ่งซื้อมาจากร้านค้าทั่วไป และรีเซลเลอร์ ใน 11 ประเทศเหล่านี้มีภัยคุกคามกว่า 100 ชนิดแฝงอยู่ด้วย  สำหรับพีซี 20 เครื่องจากประเทศไทยที่ถูกตรวจสอบนั้น พบว่าอัตราการติดมัลแวร์มากับเครื่องมีมากถึงร้อยละ 84

“ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากทีเดียวที่เราพบว่า มีมัลแวร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบติดมากับคอมพิวเตอร์แบรนด์เนมที่เพิ่งซื้อมาใหม่ โดยมีสาเหตุจากการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์  ทำให้ผู้ใช้และบริษัทต่างๆ มีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกละเมิดระบบรักษาความปลอดภัย  การทดสอบของมหาวิทยาลัยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า กลุ่มอาชญากรไซเบอร์กำลังใช้ช่องโหว่จากซัพพลายเชนเพื่อทำการกระจายมัลแวร์และทำให้ระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ลดลงอย่างน่าตกใจ  ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ใช้ซอฟต์แวร์ของแท้เพื่อความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์” อาจารย์บิปลาบ ซิกดาร์ จากภาควิชาวิศกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

งานวิจัยทั่วโลกดังกล่าว เป็นการทำสำรวจผู้บริโภค พนักงานด้านไอที เจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านข้อมูล และเจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวน 1,700 คน จากประเทศต่างๆ ได้แก่ บราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก โปแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ ยูเครน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และได้ทำการวิเคราะห์คอมพิวเตอร์จำนวน 203 เครื่อง ที่ได้มาจากบราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย เกาหลีใต้ ตุรกี ยูเครน สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย  โดยงานวิจัยของปีนี้เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยของไอดีซีปี 2556 ที่มีชื่อว่า “โลกแห่งอันตรายของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์” (“The Dangerous World of Counterfeit and Pirated Software”) โดยมีการเพิ่มเติมการศึกษาทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ และการวิเคราะห์ของตลาดใหม่ๆ และค้นหาความเกี่ยวข้องระหว่างอาชญากรรมไซเบอร์กับระบบเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วไป ธุรกิจรายย่อย สถานประกอบการ หรือองค์กรของรัฐบาล ทั้งหมดนี้ควรจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ซอฟต์แวร์ของแท้  ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นในการปกป้องและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้ระวังตัวจากการดาวน์โหลดหรือซื้อซอฟต์แวร์ของปลอม เพราะอาจจะทำให้ติดมัลแวร์ และนำไปสู่การขโมยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสูญหาย และระบบล่ม ลูกค้าควรเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัลแวร์ที่ http://www.microsoft.com/security เพื่อให้มั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ของตนไม่ติดมัลแวร์ หากพบมัลแวร์ ทางเว็บไซต์ก็มีเครื่องมือในการกำจัด

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยไอดีซีได้ที่เว็บไซต์ ของ Microsoft Play It Safe http://www.play-it-safe.net และ ห้องข่าว Digital Crime Unit http://www.microsoft.com/en-us/news/presskits/dcu/default.aspx.