Nubia Z11 mini: โดดเด่นที่ประสิทธิภาพ และสัมผัสการออกแบบดีเมื่ออยู่ในมือคุณ

Nubia Z11 mini
Nubia Z11 mini

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง Nubia Z11 mini หนึ่งในสมาร์ทโฟนระดับกลางไม่กี่รุ่นที่เรารู้สึกว่า น่าสนใจไม่แพ้รุ่นท็อปเลยทีเดียว

เราคาดคิดว่า จนถึงตอนนี้ในประเทศไทยน่าจะพอรู้จักแบรนด์ ‘Nubia’ กันบ้างแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้เคยทำความรู้จักไปบ้างแล้วจากรุ่น Nubia Z11

Nubia Z11 Review: ลูกเล่นสุดเจ๋งจากขอบจอสมาร์ทโฟนที่คุณต้องได้ลอง

ในรุ่น Nubia Z11 mini ถือเป็นรุ่นที่รองลงมา เปิดตัวในราคา 6,990 บาท มีให้เลือกสองสีได้แก่สีดำ และสีขาว อีกทั้งถ้าว่ากันถึงสเปกเครื่องแล้วก็ถือว่า น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ทั้งหมดทั้งมวล Nubia Z11 mini จะน่าสนใจยังไงบ้าง เราจะมาแจกแจงกันในรีวิวฉบับนี้ครับ

รูปร่างและรูปทรง

ถ้าว่ากันตามตรง Nubia Z11 mini เป็นรุ่นที่เราจับ และใช้งานจริงแล้ว ชอบมากกว่า Nubia Z11 ที่เป็นรุ่นแพงกว่าเสียอีก ทั้งนี้เป็นเพราะรูปทรงและการออกแบบที่ทำออกมาได้น่าสนใจ ดังจะเห็นได้จากการออกแบบในทรงแท่งที่มีความโค้งมนเข้ารูปที่สวยงาม

ด้านหน้าเป็นกระจกแบบ 2.5D มีขอบจอค่อนข้างน้อย อันเนื่องมาจากเว้นพื้นที่สำหรับการใช้งานฟีเจอร์ Edge Screen ซึ่งสีสันที่ให้มาถือว่าดีทีเดียว ทั้งยังให้ความละเอียดจอที่มากถึง 1080p

Nubia Z11 mini

แต่ส่วนที่เป็นจุดเด่นจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ Full HD หรือสีสันของจอ กลับอยู่ที่ด้านหลังตัวเครื่องครับ ที่ใช้กระจกแบบมันวาวฉาบเต็มด้านหลังตัวเครื่องด้วยสีดำ มองด้วยตาเปล่าแล้วบอกเลยว่าสวยงามแทบจะไร้ที่ติ ซึ่งเมื่อลองเอาอุ้งมือประกับเข้ากับด้านหลังตัวเครื่อง คุณจะได้สัมผัสถึงการออกแบบที่ดี (เกินคาด) และความหรูหราที่หาได้ยากจากสมาร์ทโฟนราคาต่ำหมื่น แต่กลับมีในรุ่นนี้

อย่างไรก็ตามข้อเสียของด้านหลังตัวเครื่องที่สวยงามที่ว่านี้ จะแลกมากับลอยนิ้วมือที่จะปรากฏเต็มด้านหลังนั่นเอง

ในส่วนอื่นๆ จะมีสแกนลายนิ้วมืออยู่ตรงกลางด้านหลัง กับโลโก้สีเงิน Nubia ที่อยู่ด้านล่าง และมีการจัดวางแฟลชและกล้องถ่ายภาพมุมบนซ้ายของตัวเครื่อง

Nubia Z11 mini Nubia Z11 mini Nubia Z11 mini

สเปกเครื่อง Nubia Z11 mini

  • หน้าจอ: 5 นิ้ว Full HD (441ppi)
  • ชิปประมวลผล: Snapdragon 617 Octa-core
  • แรม: 3GB
  • หน่วยความจำเครื่อง: 32GB
  • กล้อง: กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล f/2.0, กล้องหน้า: 8 ล้านพิกเซล f/2.4
  • น้ำหนัก: 138 กรัม
  • แบตเตอรี 2,800 mAh
  • ระบบปฏิบัติการ: Android 5.1.1 Lollipop

ประสบการณ์ใช้งาน

อย่างที่บอกไป เราชอบ Nubia Z11 mini อย่างมาก ด้วยหลากหลายประเด็น เช่น การออกแบบขนาดหน้าจอที่ไม่ใหญ่เกินไป คือ 5 นิ้ว ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนมองว่า 5-5.2 นิ้ว ถือเป็นขนาดที่ไม่ทำให้รู้สึกใหญ่จนเกินไป ทำให้รู้สึกยินดีทุกครั้งที่ใช้งาน

Nubia Z11 mini

แต่ก็มีบ้างที่ยังไม่ค่อยถูกใจมากนัก นั่นคือ ในส่วนอินเตอร์เฟสของ Z11 mini ที่ในความเห็นของผมแล้ว รูปทรง และกราฟิกของอินเตอร์เฟสยังไม่ไปในทางเดียวกัน บางอันใช้ทรงกลม บางอันใช้ทรงเหลี่ยม ซึ่งพอเห็นแล้วมันก็ดูขัดๆ กันพอสมควร

ในด้านมัลติมีเดีย ยอมรับว่า Z11 mini สอบผ่านฉลุยในการแสดงผลหน้าจอ เพราะให้สีสันที่ดีทีเดียว ความละเอียดของจอก็คมชัด อาจมีดรอปลงไปนิดหน่อย เมื่อใช้งานมัลติมีเดียผ่านลำโพง เพราะเสียงที่ให้จะเบาลง ทำให้การใช้งานจะต้องผ่านรูปแบบของหูฟังเพียงอย่างเดียว

Nubia Z11 mini Nubia Z11 mini

ส่วนด้านแบตเตอรีไม่ต้องเป็นห่วงครับ สบายใจหายห่วง เพราะสอบผ่านเรื่องความอึดแบตเตอรีเป็นอย่างดี เพียงพอต่อการใช้งานแน่นอน เพราะจากใช้งานติดต่อกันต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพักให้หายใจหายคอด้วยสาย USB-C (รุ่นนี้ใช้ USB-C นะครับ) ก็ยังไหว ถ้าหากไม่ได้ใช้งานโหดๆ สามารถสแตนด์บายได้หนึ่งวันครับ

ทั้งนี้จะต้องลดละเลิกในส่วนการเล่นเกมลงไปนะครับ ส่วนการใช้งานด้านอีเมล, ท่องเว็บในโลกอินเทอร์เน็ต, โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไปจนถึงการถ่ายรูปนิดหน่อย ผมว่าแบตเตอรี 2,800 mAh ก็ถือว่าอึดทีเดียว แต่ที่มีปัญหาคือ การชาร์จที่ไม่ได้ชาร์จไวมากนัก เท่าที่จับเวลาก็ชาร์จจาก 0% จนถึง 100% ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง

Edge Gestures และฟีเจอร์อื่นๆ

Nubia Z11 mini

จุดขายของ Nubia นับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาในสยามประเทศ สิ่งที่พูดชัดเจนเลยก็คือว่า Nubia มีฟีเจอร์ที่แตกต่างจากสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจริง นั่นคือ การใช้ประสิทธิภาพของขอบจอได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าว เรียกขานกันในชื่อ Edge Gestures

ในบทความรีวิว Nubia Z11 ก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงฟีเจอร์ Edge Gestures ไปแล้ว แต่ใช่ว่าจะมีเฉพาะรุ่นตัวท็อป เปล่าเลยครับ ฟีเจอร์ดังกล่าวนี้มีให้ใช้งานในรุ่นรองลงมาด้วย ซึ่งภาพรวมน่าประทับใจไม่แพ้กันครับ

โดยการใช้คำสั่งขอบจออย่าง Edge Gesture จะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ก็คือ Slide on left/right edge, Slide repeatedly on edge และ Slide on both edges

Nubia Z11 mini

Slide on left/right edge

ส่วนนี้จะเป็นการเรียกใช้งานการสลับแอปพลิเคชัน โดยเมื่อเรารูดขอบจอทางด้านซ้าย จากบนลงล่างจะเป็นการสลับแอปที่ใช้ก่อนหน้านี้ และถ้าหากเราต้องการกลับไปยังแอปที่ใช้งานเมื่อครู่ ให้รูดขอบจากล่างขึ้นบน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถเลือกระบุแอปพลิเคชันได้เองเลย โดยการเลือก Enable App แล้วปรับแต่งตามความต้องการเลยว่า จะให้สลับแอปใด

โดยเราสามารถเลือกตามความถนัดว่า ต้องการจะใช้ขอบจอด้านซ้ายหรือขวาในการสลับแอป

Slide repeatedly on edge

ถ้าหากเราเริ่มรู้สึกว่า ตัวเครื่องเริ่มหน่วงๆ แล้ว ขอแนะนำว่า ให้ทำการเคลียร์ Internal memory ที่กำลังทำงานอยู่ได้ ซึ่งตามปกติแล้วเราจะใช้วิธีการกด Menu แล้วเคลียร์ memory แต่ทว่าใน Z11 mini เราทำได้ง่ายกว่านั้น ก็คือ การใช้ขอบจอ รูดขึ้นรูดลงแบบเร็วๆ ถูขึ้นลงไปมาๆ เพียงเท่านี้มันจะเป็นการเรียกใช้คีย์ลัด แล้วตัวเครื่องเราก็จะกลับมาไวฉิวเหมือนเดิม

ชอบมาก! ฟีเจอร์นี้

Slide on both edges

คราวนี้จะเป็นการใช้งานขอบจอพร้อมกันทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งเราเลือกปรับได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างจะเอาไว้ปรับความสว่างหน้าจอ หรือปรับเสียง อันนี้แล้วแต่ความสะดวกนะครับ


Custom Bottom Key

Nubia Z11 mini

ด้วยความที่ตัวเครื่องใช้ปุ่ม Capacitive touch ซึ่งจะปรากฏบนหน้าจอรอบข้างปุ่ม Home วงกลมที่เป็น Capacitive Touch เช่นกัน เราสามารถปรับแต่งโยกย้าย ปุ่มที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวาได้อิสระ ถ้าหากคุ้นชินกับการให้ปุ่ม Back อยู่ทางซ้ายก็ปรับแต่งให้อยู่ทางขวา แต่ถ้าต้องการให้ปุ่ม Menu อยู่ทางซ้ายก็ปรับแต่งได้จากหน้านี้เลย

Super Screenshot 

นอกเหนือจากนี้ยังมีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ เช่น การอัดสกรีนช็อตแบบยาว ก็คือ เพื่อให้ได้ทุกข้อความในการถ่ายสกรีนช็อตทั้งหมด หรือการอัดสกรีนช็อตแบบวิดีโอ ซึ่งแบบวิดีโอ มีความละเอียดให้เลือกถึงขึ้น HD เลยทีเดียว

Dual Instance

Nubia Z11 mini

ในยุคที่เราใช้งาน Social หลากหลายแอคเคานต์ ทำให้การที่ในแอปหนึ่งๆ เราลงทะเบียนเข้าใช้งานได้แค่แอคเคานต์เดียวจึงเป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง (เพราะเหตุนั้นเราจึงได้เห็น Instagram หรือ Twitter ให้ล็อกอินใช้งานได้หลายแอคเคานต์) ภายในเครื่อง จะมีฟีเจอร์ Dual Instance ซึ่งหลักๆ ก็คือ จะทำให้เราใช้งาน 2 แอปลิเคชัน คนละแอคเคานต์ได้เลย

แต่ข้อจำกัดคือ มันไม่ได้รองรับทุกแอปน่ะสิครับ แอปที่รองรับจะมีแค่ WeChat เท่านั้น (ถ้ามีแอปไหนรองรับ คอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลยครับ)

Screen Split-Up

Nubia Z11 mini Nubia Z11 mini

ในยุคนี้ต่อให้เราไม่อยากทำอะไรที่เป็นสองอย่างพร้อมกัน หรือ Multitasking แต่ในหลายๆ ครั้งของวันเราอาจต้องเจอสภาพบังคับที่จะต้องตอบแชต และเช็คอีเมลไปพร้อมๆ กัน ข้อดีก็คือ Z11 mini ทำได้ และทำได้ดีด้วย โดยการแบ่งหน้าจอด้านบนและล่าง ให้เราเลือกว่าจะใช้งานแอปใดสำหรับทำงานสองอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งเราสามารถปรับสัดส่วนแอปที่มีความสำคัญให้มีพื้นที่ใช้งานมากกว่า โดยการเลื่อนปุ่มกลมๆ สีฟ้า แล้วลากขึ้นหรือลง เพื่อเพิ่ม/ลดพื้นที่การทำงาน

เช่น ด้านบนเปิดแอป Gmail ไว้ ส่วนด้านล่างอาจจะเป็นแอป Gallery เพื่อเลือกภาพที่จะเอาไว้ใช้ในการแนบไฟล์ส่งในอีเมล เป็นต้น

การถ่ายภาพ

Nubia Z11 mini

Z11 mini มาพร้อมกับกล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ด้วยความที่เป็นกล้องมือถือ ฉะนั้นแล้วการถ่ายภาพด้วยโหมดออโต้ จึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่ถูกทดสอบ ซึ่งภาพรวมแล้วถือว่า การถ่าภาพใช้ได้เลยทีเดียว เพราะภาพที่ได้มามีความคม ชัด มีดีเทลของภาพท่ีครบ การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยถือว่ากลางๆ ไม่ได้โดดเด่นมาก (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก รุ่นไฮเอนด์หลายรุ่นถ่ายกลางคืนก็ยังไม่ดีนักก็มี)

Nubia Z11 mini

Nubia Z11 mini

ขณะเดียวกันถ้าการถ่ายภาพด้วยออโต้โหมดยังไม่ถูกใจ ก็จะมีโหมดโปรให้เลือกถ่ายภาพเช่นกัน ที่คุณจะเลือกปรับ Shutter Speed, White Balance, ISO, การโฟกัส แต่ก็มีข้อติในส่วนอินเตอร์เฟสที่เดินตามรอย Apple ไปสักหน่อย ซึ่งจะถูกทดแทนด้วยลูกเล่นการถ่ายภาพ เช่น ในโหมด Camera Family เพราะตรงนี้คุณสามารถเลือกการถ่ายภาพที่น่าสนใจอย่าง Multi Exposure, Light Painting, Electronic Aperture, Slow Shutter, DNG และ Clone Camera

ตัวอย่างภาพ

การอัปเดทระบบปฏิบัติการ?

Nubia Z11 mini

แม้ว่า Nubia Z11 mini จะมาพร้อมกับชิปประมวลผล Snapdragon 617 แต่โอกาสที่ได้จะได้รับการอัปเดทเป็น Android 6 Marshmallow เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะในตลาด Android สมาร์ทโฟนต่ำหมื่นค่อนข้างได้รับการอัปเดทเป็นเวอร์ชันใหม่ค่อนข้างยาก และน่าจะเป็นหนึ่งในข้อจำกัดเพียงไม่กี่ข้อของรุ่นนี้

อย่างไรก็ดี เท่าที่ลองสังเกตดู คาดว่าทาง Nubia น่าจะมีการออก Security Patch หรือการอัปเดทด้านความมั่นคงของตัวเครื่องออกมาทดแทนครับ

ประสิทธิภาพ

3D Mark Ice Strom

Nubia Z11 mini

Antutu Benchmark 6 และ Geekbench 3

Nubia Z11 mini

สรุป

Nubia Z11 mini

ราคา 6,990 บาทที่เสียไปกับ Nubia Z11 mini เมื่อเทียบกับการออกแบบ วัสดุ และฟีเจอร์ที่จะได้รับจากราคานี้ ถือว่าน่าสนใจ มีความคุ้มค่า ถ้าหากคุณกำลังตั้งงบประมาณสมาร์ทโฟนไว้ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้

แต่ก็มีข้อจำกัดที่อาจต้องบอกกล่าวไว้ นั่นคือ ในด้านการอัปเดทระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชันใหม่ ที่อาจไม่ได้อัปเดทเป็นเวอร์ชันล่าสุดตามการเปิดตัวในทุกๆ ปีของ Google ซึ่งตรงนี้อาจทดแทนได้ด้วย Security Patch ที่คาดเดาว่า ทาง Nubia จะมีการออกอัปเดทตรงนี้ให้

ถ้าหากที่พูดถึงในรีวิวนี้ตรงใจกับที่คุณคิด สามารถเชิญเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ ตอนนี้ เวลานี้ครับ Shopping (Click)

ข้อดี: การออกแบบตัวเครื่อง การใช้วัสดุ ดีเกินคาด, ราคาไม่แพงมากนัก, ความละเอียดจอเป็น Full HD สีสันสวย, แบตอึดเพียงพอต่อหนึ่งวัน, รองรับ USB OTG

ข้อเสีย: ชาร์จประจุค่อนข้างช้า, การอัปเดทระบบปฏิบัติการที่อาจไม่ได้รับเวอร์ชันใหม่, ระบบเสียงที่เบา, ลายนิ้วมือจากด้านหลังที่ใช้กระจก