ก้าวต่อไปของ Wearable Devices ?

ภาพ: http://mobiledista.com/media/2015/01/1584189011-hexoskin1.png
ภาพ: http://mobiledista.com/media/2015/01/1584189011-hexoskin1.png

อุปกรณ์สวมใส่หรือ Wearable Device กลายเป็นเทรนด์ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคมากหน้าหลายตาขนยุทโธปกรณ์ร่วมชิงชัยในตลาดนี้เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จากฝั่งเอเชีย ทั้งเอซุส (ASUS), เอเซอร์ (Acer) หรือพรีเมียมแบรนด์อย่างซัมซุง (Samsung) หรือแอปเปิล (Apple) ต่างทยอยเปิดตัวออกมายั่วน้ำลาย หรือให้สัมผัสกันแล้ว

ถึงกระนั้นคำถามที่น่าสนใจสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเครื่องหมายคำถามในเวลานี้ นั่นคือ ความสำคัญของอุปกรณ์ชิ้นนี้ต่อมนุษย์ และการใช้งานในชีวิตประจำวัน ?

เราต้องไม่ลืมว่า แม้อุปกรณ์สวมใส่จะเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลากหลายแบรนด์กำลังก้าวเข้ามาร่วมเล่นในตลาดก็จริง แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่มีเจ้าไหนที่พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เทรนด์นี้กำลังจะมาอย่างแน่นอน ถ้าหากเราลองแยกย่อยมองถึงคุณสมบัติที่จำเป็น และน่าใช้งานของอุปกรณ์สวมใส่พวกนี้มีอะไรบ้าง ก็คงจะมีไม่มาก เช่น ดูการแจ้งเตือน (Notifications) แทนการควักสมาร์ทโฟนออกจากกระเป๋ากางเกง เป็นนาฬิกา เป็นเครื่องมือวัดการออกกำลังกาย หรือถ้าจะให้เพิ่มอีกนิดนึงก็คือ การรับสาย-โทรออก และด้วยการที่อุปกรณ์สวมใส่มันผูกติดกับข้อมือจึงมีบางคนนำมาเทียบกับนาฬิกาไฮโซเรือนแสน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันไม่อาจนำมาเทียบกันได้ โดยเฉพาะในแง่ของคุณค่า รสนิยม รวมถึงการใช้เป็นบัตรผ่านในการเข้าสังคมของผู้สวมใส่เอง

ที่ผ่านมาอุปกรณ์สวมใส่ ค่อนข้างถูกจำกัดวงในการใช้งานอย่างมาก เพราะเมื่อดูความสามารถจริงๆ แล้ว สิ่งที่พอจะเรียกว่า เป็น Killing Feature ของบรรดาอุปกรณ์สวมใส่ น่าจะเป็นพวกฟังก์ชันเกี่ยวกับการออกกำลังกาย ในฐานะที่ออกกำลังกายมาบ้าง ผมคิดว่า พวกนักกีฬาหรือคนที่ชอบการออกกำลังกายนั้น ต่างก็ต้องการทราบสถิติเกี่ยวกับตัวเองบางอย่าง เพราะด้วยสถิติเหล่านั้นสามารถนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่นนักฟุตบอลในสนาม ตำแหน่งมิดฟิลด์ ต่างก็ต้องการทราบว่า ในแมตช์หนึ่งๆ พวกเขาได้เคลื่อนไหวอย่างไร อัตราการเร่งสปีด สปีด การวิ่งโดยรวมทำได้กี่กิโลเมตร หรือจำนวนการผ่านบอลเป็นอย่างไร เหล่านี้ถ้าถูกนำไปผนวกกับอุปกรณ์สวมใส่ก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ 

จากตัวอย่างที่ยกมา ทำให้นึกไม่ออกจริงๆ นะครับว่า ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับด้านการออกกำลังกายแล้ว ยังมีเหตุผลใดที่พอจะชวนเชื่อได้ว่า อุปกรณ์สวมใส่มีความจำเป็น

Android-Wear3

อย่างไรก็ตามถ้าเรามองในปริบทไม่ว่า อุปกรณ์สวมใส่จะเป็นเทรนด์ในเวลานี้หรือไม่ในอนาคตอันใกล้ก็ตามที คำถามคือ แล้วอุปกรณ์สวมใส่จะเป็นอย่างอื่นไปได้ไหมนอกเหนือจากอุปกรณ์สวมใส่บนข้อมือ?

ผมก็คิดนะครับว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะด้วยกระบวนการความคิด และความฉลาดของมนุษย์มีอย่างไม่จำกัด คงไม่มีใครที่จะพัฒนาเพียงแค่จุดๆ เดียว แต่จะต้องเป็นการต่อยอดออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า อุปกรณ์สวมใส่จะถูกพัฒนาเป็นอย่างอื่น เช่น เสื้อ รองเท้า หมวก กางเกง หรือแม้แต่เข็มขัดแน่ๆ 

ralph-lauren-polo-tech-1

อันที่จริงอุปกรณ์สวมใส่ที่นอกเหนือจากข้อมือ มีให้เห็นมาบ้างแล้วเหมือนกันในปีที่ผ่านมา เช่น Polo Tech Smartshirt  ของค่าย  Ralph Lauren ก็ออกมานำร่องใช้งานตั้งแต่ช่วงเทนนิสแกรนด์สแลม US Open เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยความสามารถของเสื้อสุดไฮเทคนี้ก็จะคล้ายๆ กับที่ผมยกตัวอย่างไป เช่น การฝังเซ็นเซอร์ไว้ในเสื้อสำหรับการตรวจวัดสุขภาพ อย่างการเต้นของหัวใจ การหายใจ การเผาผลาญแคลอรี การเคลื่อนไหวของร่างกาย การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และส่งข้อมูลเข้าแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทำให้โค้ชหรือเทรนเนอร์ทราบข้อมูลดังกล่าวของนักกีฬา 

ตรงนี้ต้องบอกว่า ตัดประเด็นเรื่องแม่น/ไม่แม่นออกไปก่อน ถ้าให้ผมเดาก็คงค่อนข้างเที่ยงตรงระดับหนึ่ง เพราะพวกเซ็นเซอร์นี้มันอยู่ติดแนบชิดกับร่างกาย

ทั้งนี้เชิร์ตสวมใส่ของ Rapph Lauren ก็เป็นเพียงอุปกรณ์นำร่องเท่านั้น แต่แม้จะเป็นเพียงอุปกรณ์นำร่อง แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นลึกๆ ว่า ในอนาคตเราจะได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ขึ้น และภายใต้ความแปลกใหม่ที่ว่า ก็ยังเกิดคำถามเดิมโพล่พรวดขึ้นมาสุดท้ายแล้วพวกอุปกรณ์สวมใส่ก็จะยังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น จำกัดวงเฉพาะนักกีฬารึเปล่า? หรือในอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ เป็นอุปกรณ์ที่ดังแว่บเดียวแล้วดับไป 

อย่างไรก็ดีอุปกรณ์สวมใส่ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่นาฬิกา ซึ่งรวมหมายถึงเสื้อเชิร์ตที่บอกไปเมื่อครู่ ยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างที่ใหญ่มากๆ คือ อุปกรณ์เหล่านี้ ยังต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาด นั่นหมายความว่า อัตราหรือขีดความสามารถในการทนต่อแรงซัก หรือการสัมผัสกับน้ำ ความชื้น มันมีขอบเขตในการดูแลเพื่อคงสภาพของอุปกรณ์ไฮเทคพวกนี้ได้มากสักเพียงไหน ไปจนถึงราคาที่ในปกติแล้ว สินค้าเครื่องกีฬาก็จัดเป็นสินค้าที่มีราคา ‘ไม่ถูก’ อยู่แล้ว ยิ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาย่อมการันตีถึงราคาค่างวดที่จะถูกอัปสูงขึ้น ในที่สุดแล้วเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อุปกรณ์สวมใส่หรือ Wearable Device อาจเป็นอุปกรณ์ที่ complimentary ให้กับแบรนด์ผู้ผลิต และอาจไม่ได้จำเป็นต้องบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีสถานะเป็นนักกีฬา