Moto Z Review: สมาร์ทโฟนสุดเท่ มีสไตล์ ปรับแต่งให้โดดเด่นด้วย Moto Mods

Moto Z
Moto Z สมาร์ทโฟน Moto Mods สุดเท่

เมื่อพูดถึงสมาร์ทโฟนที่มีความแตกต่างมากที่สุดในตลาด พร้อมด้วยลูกเล่นที่น่าสนใจ ถึงนาทีนี้ยอมรับครับว่า คงไม่มีใครได้น่าสนไปกว่า Moto Z สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุด

Moto Z ถือเป็นแนวทางในระยะยาวที่ Motorola วางไว้ในการสรรสร้างความแตกต่าง เพื่อเป็นจุดเด่นในการตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์เสริมที่มีชื่อว่า Moto Mods เพื่อหวังตอบโจทย์การใช้งานจากผู้บริโภค

จาก Moto X สู่ Z Series

Moto X

เป็นที่ทราบกันดีกว่า ก่อนหน้าที่ Z Series จะถือกำเนิดขึ้น ซีรีส์ที่ถือว่าเป็นพระเอกของ Motorola มาโดยตลอดก็คือ Moto X ซึ่งถือว่า เป็นสมาร์ทโฟนที่มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถ Build Your Moto หรือประกอบสิ่งเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เช่น ฝาหลังของตัวเครื่องต้องการเป็นสีอะไร ใช้วัสดุอะไร ต้องการสลักชื่อไว้บนเครื่องรึเปล่า

แต่เมื่อย่างเข้ามาในปี 2016 มีการเปลี่ยนแปลงของ Motorola เกิดขึ้น ดังเช่น การเข้าซื้อกิจการโดย Lenovo พร้อมกับเปลี่ยนชื่อแฟลกชิปเดิมที่ใช้ชื่อ Moto X มาเป็น Moto Z แทน (สวนทางกับ Sony ที่เปลี่ยนจาก Z เป็น X) โดยจุดเด่นของ Z Series นั้น ได้ต่อยอดจาก Moto X นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถ Build และ Make สมาร์ทโฟนในสไตล์ของตัวเอง ผ่านคอนเซปต์ที่มีชื่อว่า Moto Mods (ที่เราจะพูดถึงข้างหน้า)

มีอะไรน่าสนใจบ้าง?

แน่นอนว่า ตอนนี้ Moto Z กำลังอยู่ในมือเรา และเราได้ลองใช้งานมาเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง ซึ่งสามารถสรุปสิ่งที่น่าสนใจออกเป็น 6 ส่วน มาดูกันว่า มีอะไรกันบ้างครับ

การออกแบบ: สแกนลายนิ้วมือที่น่าเกลียด

ในภาพรวม การออกแบบถือว่าดี เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างชอบ เนื่องจากตัวเครื่องมีความสวยงาม พร้อมด้วยความเพรียวบางน่าสัมผัส บนขนาดหน้าจอสมัยนิยม 5.5 นิ้ว

Moto Z

แม้ว่าขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว จะเป็นหน้าจอที่ใหญ่เกินไปสักหน่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนปัจจุบันรับได้ที่จะใช้งานขนาดประมาณนี้ ที่น่าสนใจในการออกแบบก็คือ ตัวเครื่องมีความบางมากเพียง 5.2 มม. เท่านั้น ซึ่งความบางของตัวเครื่องที่ว่านี้ มาพร้อมกับความสวยงามเป็นแน่ แต่ถึงกระนั้นด้วยความบางขนาดนี้ จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการใช้พอสมควร เพราะอาจหล่นหลุดมือได้เช่นกัน

แล้วอะไรที่จะทำให้การจับสัมผัส โอเค ไม่ลื่นหลุดมือ?

Moto Z

สิ่งนั้นอยู่ในกล่องของตัวเครื่องครับ ประกอบไปด้วยของ 2 สิ่ง นั่นก็คือ bumper สิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันรอบตัวเครื่องที่มีความบางเฉียบนี้ให้มีการจับสัมผัมที่ดีขึ้น พร้อมด้วยความสามารถในการกระชับเข้ากับรูปมือมากขึ้น แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันเพราะ bumper ที่แถมมากับกล่อง เมื่อสวมใส่แล้วกลับลดทอนความสวยงามของตัวเครื่องลงไปเช่นกัน

Moto Z

สิ่งของอย่างที่ 2 นั่นก็คือ ฝาหลังครับ เพราะด้วยขนาดของฝาหลังที่มีความหนา 2 มม. จึงเป็นเพิ่มความหนาให้ตัวเครื่องให้มีความหนามากขึ้น กอปรกับฝาหลังที่แถมมานั้น มีลักษณะโค้งนิดๆ จึงทำให้ส่วนโค้งของฝาหลัง ปะทะเข้ากับอุ้งมือ ซึ่งจะสร้างสัมผัสและการใช้งานที่ดีโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามในการออกแบบ Moto Z ก็มีสิ่งที่ไม่น่าให้อภัยเหมือนกัน และสิ่งแรกที่ผมเชื่อว่า หลายคนที่เคยจับสัมผัสมาก่อนก็คงคิดเหมือนกัน ก็คือ ปุ่มสแกนลายนิ้วมือ

Moto Z

ด้วยความที่ปุ่มสแกนลายนิ้วมือถูกจัดวางอยู่ในส่วนล่างที่สุดของตัวเครื่อง แถมด้วยรูปทรงที่เป็นสี่เหลี่ยม จึงดูเป็นการจัดวางตัวเครื่องที่ประหลาดเอามากๆ และบั่นทอนความสวยงามทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเครื่องลงไปจนหมดสิ้น แม้ว่าปุ่มสแกนลายนิ้วมือของ Moto Z จะทำงานได้ดีพอตัว (สามารถเปิด/ปิดหน้าจอตัวเครื่องด้วยการใช้นิ้วสัมผัสที่ปุ่ม แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเป็นปุ่ม Home หรือเป็นปุ่ม Recent ได้ในเวลาเดียวกัน) แต่ด้วยรูปทรงและการจัดวางที่ผิดที่ ผิดแห่ง จึงทำให้เราไม่โอเคกับการออกแบบนี้เลย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การจัดวางปุ่มเพิ่มลดเสียง (Rocker) ไว้ใกล้กับปุ่ม Power On/Off จนเกินไป

Moto Z

จากภาพจะเห็นได้ว่า ด้านขวามือของตัวเครื่องมีปุ่มที่มีลักษณะคล้ายๆ กันถึง 3 ปุ่ม แถมช่องว่างระหว่างแต่ละปุ่มก็ใกล้เสียจนสามารถใช้งานผิดวัตถุประสงค์ได้ แม้ว่าตรงปุ่ม Power On/Off จะมีลักษณะที่แตกต่างกับปุ่ม Rocker อยู่บ้าง แต่เมื่อจังหวะการใช้งานจริง เป็นการใช้งานที่รวดเร็วจนไม่มีใครสังเกตหรอกว่า ปุ่มที่เรากำลังใช้งานอยู่ เป็นปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ไม่ใช่ปุ่ม Power On/Off ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรปรับปุ่ม Power On/Off ให้ลงมาจากตำแหน่งเดิมสักหน่อยจะเป็นการดีที่สุด

Moto Mods: ไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ ปรับเปลี่ยนได้

Moto Mods

ลำพังแค่ Moto Z อย่างเดียวคงยังไม่ทำให้เป็นสมาร์ทโฟนที่ตอบสนองสิ่งที่เป็นตัวเรามากที่สุด สิ่งที่เป็นเหมือนคู่พระนางของ Moto Z สิ่งนี้ก็คือ Moto Mods

ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า เวลานี้สมาร์ทโฟนมิใช่สิ่งที่เป็นสื่อกลางในการโทรหาคนที่อยู่ไกล แล้วย่อโลกให้สั้นลงด้วยปลายนิ้วสัมผัสไปที่ปุ่มโทรออก หรือการติดต่อสื่อสาร การใช้งานแอปพลิเคชันอื่นๆ แต่สมาร์ทโฟนคือ สิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตน และอัตลักษณ์ได้อย่างดีที่สุดอย่างหนึ่ง

ด้วยความที่ Moto Z มาพร้อมกับ Moto Mods ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยตอบโจทย์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และตรงใจมากที่สุด อย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเสริมศักยภาพในการถ่ายภาพ Hasselblad True Zoom คือทางเลือกสำคัญในการถ่ายภาพ

ขณะเดียวกันถ้าเป็นสายคนทำงาน Moto Insta-Share projector ที่จะทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นเโปรเจ็คเตอร์ฉายภาพขึ้นสไลด์สำหรับการพรีเซนต์งาน ก็ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนทำงานในยุคปัจจุบันได้ดีไม่น้อย หรือถ้าเป็นคนที่ชอบฟังด้านเพลง ก็มีตัวเลือกอย่าง JBL SoundBoost

Moto Z

แต่ทั้งหมดที่ว่านี้ เราไม่ได้มารีวิวครับ (น่าเสียดายมาก) สิ่งที่เราได้มามีเพียงชิ้นเดียวก็คือ Incipio offGRID Power Pack ซึ่งเปรียบเสมือนแบตเตอรีเสริมการใช้งานในการหล่อเลี้ยงแบตเตอรีเพื่อยืดอายุการใช้งานมือถือในหนึ่งวันให้นานที่สุดเท่าที่จะทำไดในขนาดความจุ 2,220mAh

Moto Z

โดยวิธีการเชื่อมต่อ Moto Mods และ Moto Z สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเอาแม่เหล็ก 16 Pins ที่อยู่ด้านหลังตัวเครื่องมาประกับเข้าด้วยกัน ด้วยความที่เป็นการเชื่อมต่อด้วยแม่เหล็กจึงทำให้ตัวสมาร์ทโฟนกับ Moto Mods ติดแน่นมาก เท่าที่ใช้มาไม่เจอ Moto Mods หลุดจากตัวเครื่องเลย ส่วนการถอดก็ง่ายมากเพราะด้านล่างของ Incipio offGRID Power Pack จะมีช่องให้ใช้เล็บงัดออกมาได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่า Incipio offGRID Power Pack จะมีประโยชน์ในแง่การยืดอายุการใช้งานตัวเครื่องให้นานขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว Moto Z เองก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่แบตค่อนข้างอึดอยู่แล้ว ทำให้ Incipio offGRID Power Pack อาจไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มากนักสำหรับผู้ใช้งาน รวมถึงน้ำหนักของ Incipio offGRID Power Pack ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงทำให้การประกบ Moto Z กับ Incipio offGRID Power Pack แล้วนำไปใช้งานนอกสถานที่ จึงอาจเป็นสิ่งที่ชวนลำบากใจไม่ใช่เล่น เพราะจากเดิมที่ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 136 กรัม เมื่อใส่แบตเสริม Incipio เข้าไปจะเพิ่มอีก 79 กรัม ปาเข้าไปรวมแล้วหนักถึง 215 กรัมเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึง Moto Mods แล้วในภาพรวม ผมคิดว่าชุดอุปกรณ์เสริมอย่าง Moto Mods ยังไม่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ได้มากนัก (ซึ่งควรจะมีอะไรบ้างนั้น ผมก็ไม่แน่ใจมากนักว่าจะต้องมีอะไร แต่สิ่งที่แน่ใจคือทั้งหมดเหล่านี้ Motorola ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างเราๆ)

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Motorola จะสร้างพันธมิตรกับ Indiegogo เพื่อให้ชุมชนนักพัฒนาที่มีไอเดียมาช่วยสร้างนวัตกรรมของ Moto Mods แล้วป้อนเข้าสู่ Motorola โดยตรง

ผมเขียนบทวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้วที่ [บทความพิเศษ] Moto Mods นี่คือแนวทางและอนาคตของ Moto Z !?

อย่างไรก็ตามถ้าหาก Moto Mods ที่ว่ามานี้ยังไม่มีอะไรที่โดนใจคุณ (ซึ่งผมเชื่อว่ามี) สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คงมีแค่ฝาหลังลายไม้ที่แถมมากับตัวเครื่องนั่นเอง

ความละเอียดหน้าจอ: สีสันที่สวยงามบน QHD

Moto Z

ขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ซึ่งในความเห็นผมยังคงยืนยันว่ามันเป็นขนาดหน้าจอที่ใหญ่เทอะทะไม่น้อย ซึ่งผมก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่า การที่มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ถึง 5.5 นิ้วนั้น เป็นเพราะการใช้งานแอปพลิเคชันจำพวก Entertainment คือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และการฝังตัวใช้งานสมาร์ทโฟนในทุกๆ วัน

สมาร์ทโฟนคือ Second Screen หรือจอที่สองของเราที่เราต้องใช้งานทุกๆ วัน ฉะนั้นคอนเทนต์ด้านความบันเทิงต่างๆ จึงไม่ได้อยู่แค่หน้าจอทีวี แต่กลับโยกย้ายถ่ายเทมาอยู่ในสมาร์ทโฟนด้วย

ฉะนั้นแล้วขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว จึงเป็นการตอบโจทย์การใช้งานด้านความบันเทิงโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการรับชมคลิปใหม่ๆ ใน YouTube การดูซีรีส์ผ่านแอปพลิเคชัน เลยถือว่าเป็นอะไรที่สะดวกมากๆ บนขนาดหน้าจอประมาณนี้

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความละเอียดหน้าจอของ Moto Z ให้มาถึง QHD; โอเค QHD อาจไม่ใช่สิ่งใหม่ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับสูง แต่ที่ผมชอบจากการดูจอบนตัวเครื่อง Moto Z ก็คือ ความคมชัดของภาพ สีดำที่ให้จากหน้าจอถือว่า ดำสนิทดีทีเดียว โดยที่สีของหน้าจอไม่สดจดเกินไปจนหลอกสายตา แต่ทั้งนี้เราจะต้องปรับโหมดภาพเป็น Vibrant นะครับ เพราะถ้าหากใช้ Standard ของ Moto สีจะค่อนข้างอมเหลืองมากทีเดียว

นอกเหนือจากความคมชัดของหน้าจอแล้ว สิ่งที่อยู่บนหน้าจออีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบก็คือในส่วน always-on display ที่จะทำให้เราสามารถดู Notifications พร้อมรายละเอียดว่า ที่แจ้งเตือนมานั้น คืออะไร โดยที่เราไม่ต้องเปิดหน้าจอ หรือจะใช้มือวางไปที่เซนเซอร์ที่อยู่ด้านล่างแทนก็ได้ ซึ่งฟีเจอร์นี้ในรุ่นอื่นๆ ก็มีครับ เช่น Moto G4 Plus

กล้องถ่ายภาพ

Moto Z

Moto Z

Moto Z มาพร้อมกับกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ที่เพิ่มเรื่องระบบกันสั่น OIS การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยถือว่า โอเค ซึ่งภาพที่ได้ถือว่า ค่อนข้างดีทีเดียว

นอกเหนือจากนี้ยังคงมีความสามารถในการถ่ายภาพไว ที่มามาเนิ่นนานตั้งแต่ Moto Z นั่นคือการสะบัดข้อมือเพื่อเปิดแอปกล้อง

ตัวอย่างภาพ Moto Z

ประสิทธิภาพ: แบตเตอรีใช้งานได้นาน และ Turbo Charge ที่ชาร์จไวมาก

Turbo Charge

บนความจุแบตเตอรี 2,600 mAh ที่ดูเหมือนว่าจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเมื่อเทียบกับขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว QHD แบตเตอรีที่ Motorola ควรจะให้มานั้น ควรอยู่ในระดับ 3,000 mAH ขึ้นไป แต่ไม่น่าเชื่อว่าความจุ 2,600 mAh กลับใช้งานได้อึดทีเดียวเชียว สามารถใช้งานได้นานระดับ 9 ชั่วโมง พร้อมด้วยการเปิดหน้าจอเครื่องเป็นเวลานานได้สบายๆ

โดยปกติแล้วกิจวัตรประจำวันในการใช้งานมือถือของผมก็จะเป็นการตอบแชต ตอบอีเมล ดู YouTube ดูซีรีส์ผ่านแอปพลิเคชัน และอาจจะมีเล่นเกม รวมถึงการถ่ายภาพนิดหน่อย ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานได้ดีทีเดียว

ขณะเดียวกันระบบ Turbo Charge ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการชาร์จเร็วของ Motorola ก็ทำได้ดี ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็สามารถชาร์จแบตเตอรีให้เต็ม 100% ได้

ไม่มีช่องเสียบหูฟัง: หายนะ!

Moto Z

ต้องบอกก่อนนะครับว่า Moto Z ไม่ได้เลียนแบบ Apple iPhone 7 ในการตัดช่องเสียบหูฟังมาตรฐานออกไปนะครับ โดยการใช้งานหูฟังของ Moto Z จะต้องผ่านอุปกรณ์เสริมที่แถมมาในกล่อง ซึ่งจะอยู่ในลักษณะพอร์ต USB-C จากนั้นก็เอาหูฟังแจ็ค 3.5 มม. เสียบเข้าไป

ในแง่หนึ่งผมเองก็มีหูฟังที่เป็นแบบไร้สายและมีสาย ความเห็นส่วนตัวของผมนั้น คิดว่าการต้องมีอุปกรณ์มาเสียบต่อๆ กัน เป็นอะไรที่ชวนน่ารำคาญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าต้องการใช้หูฟังแบบมีสายก็จะต้องพกอุปกรณ์ต่อพ่วงตลอดเวลา

Moto Z

ที่สำคัญก็คือ เราเองก็ไม่รู้ว่าอุปกรณ์ต่อพ่วงหูฟังจะหล่นหายไประหว่างทางรึเปล่า แนวทางที่ผมพอใจ (และรับได้) ก็คือ ให้หูฟังที่แถมมากับ Moto Z เป็นพอร์ท USB-C ไปเลย อย่างน้อยๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องของอุปกรณ์ต่อพ่วงที่อาจจะหล่นหาย และไม่ต้องมีสายระโยงระยางในระหว่างการฟังเพลง

สรุป

Moto Z

ในภาพรวม โดยสรุปแล้วผมค่อนข้างชอบ Moto Z เนื่องจากการออกแบบที่สวยงาน (แม้ปุ่มสแกนลายนิ้วมือจะน่าเกลียดมากก็ตาม) รวมถึงการใช้งานตัวเครื่องถือว่า ตอบโจทย์ มีความไหลลื่น พร้อมด้วยอินเตอร์เฟสที่มีความคลีน ไม่ต้องเจออะไรที่รกรุงรัง

แต่สิ่งที่น่าคิดต่อไปหลังจากนี้ก็คือ ถ้าหาก Motorola ยึดแนวทาง Moto Mods เป็นไบเบิ้ลการพัฒนา Moto Z สิ่งที่อยากก็คือ การเพิ่มความหลากหลายของ Moto Mods ที่นอกเหนือจากที่เราเห็นในเวลานี้ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นตัวของตัวเอง ส่งเสริมในด้านอัตลักษณ์ของผู้ใช้งานรายบุคคล ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า Moto Mods เป็นสิ่งที่เราต้องซื้อ และมีความจำเป็นในการใช้งาน

แน่นอนว่า เมื่อมีการสนับสนุนในด้านนี้ทั้งหมดสิ่งที่จะบังเกิดแก่ Moto Z ก็คือ ความเป็นตัวของตัวเอง ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่เห็นสมาร์ทโฟนของ Moto จะรู้ทันทีว่านี่คือ Motorola เพราะเวลานี้แบรนด์สมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ต่างกำลังสร้างความเป็นตัวเองของตัวเองอย่างขะมักเขม้น เช่น Huawei ที่มี Leica และ Porsche Design, OPPO มีเรื่อง Selfie Expert ซึ่งยังไม่ได้นับรวมไปถึงเจ้าตลาดอย่าง Apple และ Samsung ที่มีการรับรู้ต่อแบรนด์เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้ Mobiledista จะติดตามความเคลื่อนไหวของ Motorola อย่างใกล้ชิด

สเปกเครื่อง

  • หน้าจอ 5.5 นิ้ว QHD
  • ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820
  • RAM 4GB
  • กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล f/1.8 พร้อมกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล f/2.2
  • หน่วยความจำ 32GB รองรับ microSD card
  • Android 6.0.1 Marshmallow
  • แบตเตอรี 2,600 mAh