Kaspersky เดินหน้าพัฒนานโยบายความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับอุปกรณ์ไบโอนิก

แคสเปอร์สกี้ ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวดิจิทัลชั้นนำของโลก เป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่เห็นความสำคัญจากความท้าทายของปรากฏการณ์ Human Augmentation Phenomenon หรือปรากฎการณ์ความตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีเสริมศักยภาพร่างกายของมนุษย์ ด้วยการนำเสนอนโยบายแนวทางของความปลอดภัยไซเบอร์ที่ครอบคลุมแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ โดยนโยบายดังกล่าวจะเน้นไปที่การเพิ่มความแข็งแกร่งของบุคลากรในการทำงานตามออฟฟิศต่างๆ พร้อมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิการของพนักงานเมื่อต้องใช้อุปกรณ์ชีวภาพหรือไบโอนิก (bionic device) ในการทำงาน

ท่ามกลางความตื่นตัวและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่รายล้อมการทำ Human Augmentation โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนการใช้งานอุปกรณ์ไบโอนิกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแทนที่หรือเสริมศักยภาพอวัยวะเดิมของมนุษย์ด้วยการฝังเทคโนโลยีประดิษฐ์ลงไป อย่างไรก็ดีในแวดวงของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็มีการแสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยมองว่ายังมีการคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอุปกรณ์ประเภทนี้ต่ำเกินไป การขาดความตื่นตัวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเสริมศักยภาพร่างกายของมนุษย์และเรื่องความปลอดภัยของโลกดิจิทัลในอนาคต

แคสเปอร์สกี้ได้ทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องในเรื่องศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีเสริมศักยภาพร่างกายของมนุษย์และประเมินความท้าทายในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มวลมนุษยชาติอาจต้องเผชิญในช่วงเวลาที่มีการนำเอาแนวทางเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ด้วยการเกาะติดการเสวนาภายในคอมมูนิตี้ บริษัทได้ตัดสินใจที่จะตอบรับความต้องการเฉพาะกิจในด้านของการกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์และกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อลดความเสี่ยงต่อระบบเครือข่าย IT ขององค์กรซึ่งอาจเกิดจากเทคโนโลยีการเสริมศักยภาพร่างกายของมนุษย์ได้ นโยบายของแคสเปอร์สกี้ได้สร้างสถานการณ์จำลองที่พนักงานซึ่งได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีเสริมศักยภาพเข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้นในอนาคต และยังมองไปถึงการทดสอบในชีวิตจริงของแคสเปอร์สกี้กับพนักงานที่ฝังไบโอชิปไว้ในร่างกาย

ภายใต้การกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยของแคสเปอร์สกี้ ตัวนโยบายจึงมีขั้นตอนการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไบโอนิก* ภายในองค์กรและมุ่งลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการธุรกิจ นโยบายดังกล่าวมีการระบุถึงโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรแบบทั้งองคาพยพรวมถึงหน่วยธุรกิจย่อยทั้งหมดด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือมันสามารถใช้งานกับระบบควบคุมการเข้าถึงอย่างเต็มรูปแบบได้ เช่นเดียวกับกระบวนการบริหารดูแลระบบ และกระบวนการซ่อมบำรุง รวมถึงการใช้งานกับระบบอัตโนมัติด้วย นโยบายของแคสเปอร์สกี้นั้นจะต้องนำไปใช้ได้ทั้งกับพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ตลอดจนพนักงานขององค์กรภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมลงนามทำสัญญาให้บริการกับทางบริษัท ปัจจัยทั้งมวลนี้จะมุ่งไปที่การเสริมประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโครงสร้างพื้นฐานองค์กรในระดับที่ใหญ่กว่า

มาร์โก พรีอัสส์ ผู้อำนวยการทีมวิจัยและวิเคราะห์ระดับโลกของแคสเปอร์สกี้ (GReAT) ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า “เทคโนโลยีการเสริมศักยภาพร่างกายมนุษย์ คือชอบเขตของเทคโนโลยีซึ่งในความเป็นจริงแล้วเปรียบเหมือนพื้นที่ตกสำรวจ นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีการย่างเท้าก้าวแรกสู่ความกระจ่างแจ้งของประเด็นนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เช่นเดียวกันการสร้างความแข็งแกร่งของระบบรักษาความปลอดภัยจะช่วยให้เรามั่นใจในศักยภาพของเทคโนโลยีว่าจะนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม เราเชื่อในการสรรสร้างโลกดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งกว่าเพื่อวันพรุ่งนี้ เราต้องการสร้างความปลอดภัยเชิงดิจิทัลให้กับอนาคตของเทคโนโลยีการเสริมศักยภาพร่างกายมนุษย์ตั้งแต่วันนี้”

นโยบายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำหนดขึ้นโดยแคสเปอร์สกี้จะมอบกระบวนการสร้างมาตรฐานที่หลากหลาย เสริมประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัย และมีความครอบคลุมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแก่บรรดาพนักงานที่ใช้อุปกรณ์ไบโอนิกเมื่ออยู่ในออฟฟิศ อีกทั้งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของแผนการกำหนดนโยบายนี้คือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคอมมูนิตี้ด้าน IT และการใช้เทคโนโลยีเสริมศักยภาพระดับโลกในการร่วมเสวนาและการดำเนินการตามความพยายามร่วมในการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยให้กับเทคโนโลยีการเสริมศักยภาพร่างกายมนุษย์ให้ก้าวไปสู่ขั้นต่อไป นี่ยังรวมถึงการสร้างความมั่นใจเชิงดิจิทัลของอุปกรณ์ การตรวจสอบสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในระดับต่าง ๆ และบรรเทาการเกิดภัยคุกคามใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพของมนุษย์

การเสวนาระดับนานาชาติครั้งต่อไปในด้านอนาคตของเทคโนโลยีการเสริมศักยภาพร่างกายมนุษย์ นโยบายเขิงอุตสาหกรรมระดับโลก มาตรฐานความปลอดภัยทางดิจิทัล ภัยคุกคามดิจิทัลหลักที่สามารถส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์เสริมศักยภาพได้ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจะจัดขึ้นในการประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต หรือ IGF ประจำปี 2021 ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติในวันที่ 7 ธันวาคม 2021

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการเสวนาแบบออนไลน์ในหัวข้อ “The future of human augmentation: gain or ‘cyber-pain’?”
https://www.intgovforum.org/en/content/igf-2021-town-hall-32-the-future-of-human-augmentation-gain-or-cyber-pain

* อุปกรณ์ไบโอนิกที่มีการป้องกันด้วยนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกอบด้วย การฝังชิปอัจฉริยะ (เช่น ไบโอชิป NFC) อวัยวะภายในและแขนขาเทียม รวมถึงอวัยวะรับความรู้สึกเทียม (เช่น อุปกรณ์สายตาเทียม เครื่องช่วยฟัง และอื่น ๆ)