dtac เชื่อ 5G ผลักดันไทยก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0, กสทช.ย้ำหน่วยงานรัฐต้องพร้อมไม่งั้นล้าหลังไม่ทันโลก

dtac

dtac มองไกลเชื่อมั่นเครือข่ายการเชื่อมต่อ 5G ที่กำลังจะมาเร็ววันนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการใช้งานความบันเทิงทั่วไป

ในงาน “ผ่าทางตัน 5G คลื่นความถี่นำไทยสู่ 4.0 อย่างยั่งยืน” ที่ dtac เป็นเจ้าภาพ ร่วมด้วยบุคลากรจากวงการเครือข่ายจาก ITU, Huawei, Ericsson และกสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับด้านโทรคมนาคม

dtac

ความน่าสนใจในงานนี้คือ ทางฝั่ง dtac นำโดยนายลาร์ส นอร์ลิง เชื่อมั่นว่า การเชื่อมต่อเครือข่ายขั้นถัดไป ที่เรารู้จักกันในนามของ 5G จะเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะการเชื่อมต่อ 5G คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะเชื่อมต่อได้ เช่น การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์ภายในบ้าน จะคุยกันได้ และอยู่ภายใต้คำว่าดิจิตอลทั้งหมด

พร้อมกันนี้การเชื่อมต่อ 5G จะส่งผลในด้านอื่นๆ ที่ช่วยผลักดันประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ในด้านการเกษตร ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยทำให้สินค้าทางการเกษตรมีคุณภาพ ขายได้ราคา ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และยังจะทำให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้

dtac

ขณะเดียวกันนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ในฐานะตัวแทนจากกสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของรัฐมองว่า เทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งหน่วยงานรัฐของไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะ 5G ไม่ได้มีผลต่อเฉพาะด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่จะเร็วมากขึ้น แต่จะส่งผลโดยตรงต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โดยทางฝั่งกสทช. เชื่อว่า ในส่วนของภาคเอกชนคงไม่มีปัญหาในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในประเทศไทย หากแต่เป็นฝั่งองค์กรของรัฐต่างหากที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเมื่อ 5G กำลังย่างเข้ามาในปี 2020 จนถึงตอนนี้หน่วยงานของไทยยังมีปัญหาเรื่องการจัดเตรียม Roadmap การขอเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานที่ถือครองคลื่นในปัจจุบันเพื่อนำไปจัดการประมูลยังทำได้ยาก

อีกทั้งในไทยเองยังไม่สามารถให้มีการจัดประมูลคลื่นที่กำลังหมดอายุสัมปทาน จนทำให้ท้ายที่สุดก็ต้องเกิดมาตรการเยียวยาต่ออายุสัมปทานออกไป 1-2 ปี ซึ่งตรงนี้จะส่งผลเสียต่อทั้งรัฐที่จะได้เงินจากการประมูลที่จะเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าระบบสัมปทาน หรือการถือครองโดยไม่ได้ทำประโยชน์ ไปจนถึงประเทศไทยจะเสียโอกาสในการนำคลื่นที่ใช้ทำ 5G ทำการค้าเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เข้าประเทศ

อย่างไรก็ตามอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับ 5G ก็คือ ในเรื่องของการวางมาตรฐานในระดับนานาชาติ เนื่องจากตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ITU ยังไม่ได้วางมาตรฐานที่จะนำมาใช้กับ 5G จึงยังทำให้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับ 5G ยังไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มกำลัง