Lazada

เรากำลังเสพย์ติดสมาร์ทโฟนเกินไปรึเปล่า ?

smartphone-addiction-at-office-steealthgenie-2

ทุกวันนี้เราใช้สมาร์ทโฟนวันละกี่ชม.ต่อวัน ? ติ้กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก

คำตอบคือ ผมก็ไม่รู้ มันเป็นอะไรที่มากเกินกว่าจะคาดเดา แต่ถ้าจะบอกว่า เป็นตัวเลขระดับอินฟินิตี้ อันนั้นก็โอเวอร์เกินไปสักหน่อย

ถ้าให้ตอบแบบเหมารวม ก็คงตอบแบบกำปั้นทุบดินให้มันหมดเรื่องสิ้นสิ้นราวไป นั่นคือ ………หลายชั่วโมง

การที่เราทำอะไรบ่อยๆ จนเคยชินเป็นนิสัย เหล่านี้มันมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า เสพย์ติด แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ แบบนี้เข้าข่ายว่ากำลังเสพย์ติดสมาร์ทโฟนรึเปล่า ?

แน่ล่ะครับ อะไรก็ตามการที่เราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากจนเกินไป มักสิ้นสุดลงด้วยความไม่พอดี ยกตัวอย่างที่ผมเคยเห็นจะๆ คาตามาแล้วกับมิตรสหายท่านหนึ่งกำลังขับรถ โดยพลันสัญญาณไฟสีแดงตีฆ้องบอกเป็นสัญญาณเตือนให้รถทุกคนต้องหยุดลง มิตรสหายท่านเดิมคนนั้น กลับเลือกใช้เวลาสุดแสนน่าเบื่อเพื่อรอให้ไฟสัญญาณเป็นสีเขียวดั่งที่ต้องการ ด้วยเกม Cookie Run หรือที่หนักหน่อยก็คือ ขับรถพลาง แชตพลาง ทั้งๆ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาไฟเขียวผ่านตลอด

ไม่รู้เป็นเพราะว่า กทม. เมืองหลวงแดนศิวิไลซ์ รถมันเยอะ ไฟแดงก็นานแสนนาน นานจนเกิดสภาวะเคยชินว่า ต้องหาอะไรทำสักอย่างแก้เซ็งรึเปล่า ?

ผมว่า ก็คงเป็นไปได้

อันที่จริงการใช้งานสมาร์ทโฟนระหว่างอยู่บนท้องถนนมันก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควรจะทำอย่างยิ่ง งานวิจัยบางชิ้น (ที่เคยเป็นข่าว) บ่งชี้ว่า อุบัติเหตุในสหรัฐอเมริการะยะหลังๆ แทบจะครึ่งต่อครึ่งมาจากการขับรถไปเล่นสมาร์ทโฟนไป กับกลุ่มเมาแล้วขับ

ลำพังแค่การขับรถให้ถึงบ้านอย่างปลอดภัยในแต่ละวันบนยวดยานท้องถนน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว การเพิ่มปัจจัยเสี่ยงด้วยการละทิ้งสมาธิและชีวิต โดยให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนที่อยู่ตรงหน้า มันไม่ใช่เรื่องที่สมควรทำแม้แต่น้อย

นั่นจึงทำให้ผมมองว่า ต่อให้สมาร์ทโฟนมีฟังก์ชันเสริมช่วยพิมพ์ระหว่างที่เรากำลังยวดยานอยู่นั้น นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ดีพอที่จะช่วยเซฟชีวิตบนท้องถนนอยู่ดี เพราะสมาธิที่เราคิด เราประมวล และเราทำ มันจดจ่ออยู่กับที่สมาร์ทโฟน หาใช่รถราที่อยู่ด้านหน้า

smartphone-addiction-obsession

อีกจำพวกหนึ่งที่ผมว่า น่าสนใจ ลองสังเกตด้วยตัวเองก็ได้ครับว่า ตามสกายวอล์ก ทางลงรถไฟฟ้า หรือทางเท้าริมถนนก็ตามที ย่อมต้องมีกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจสิ่งรอบข้าง แต่ทุกความสนใจของเขา หรือเธอ หยุดอยู่ตรงที่จอเล็กๆ 5 นิ้ว

ลองแทนค่าเอาเหตุการณ์ของคนที่เล่นมือถือตามแนวรถไฟฟ้าหรือสกายวอล์ค เข้ากับเหตุการณ์ขับรถบนท้องถนน ผมว่า มันแทบไม่มีความแตกต่างใดๆ เลยให้ตายสิ

โอเค! คุณผู้อ่านอาจจะแย้งว่า อย่างน้อยๆ บนสกายวอล์ค หรือแนวรถไฟฟ้า อุบัติเหตุก็คงเบากว่า บนท้องถนน……..ซึ่งอันนั้นผมก็คงไม่เถียง แต่ก็นั่นแหละครับ เราลืมไปรึเปล่าว่า นิยามของอุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

nono

กาลนั้นแล้วทีมโปรดักชันสร้างรายการให้แก่ National Geographic เลยทำทางเดินพิเศษสำหรับแบ่งกลุ่มคนเดินออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่งก็คือ เป็นกลุ่มที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟนให้เดินชิดขวา ส่วนกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนให้เดินชิดซ้าย ทราบไหมครับว่า ผลลัพธ์ที่ว่านี้เกิดอะไรขึ้น ?

กลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนกลับรู้สึกประหลาดใจปนหัวเราะ จนถึงขั้นแชร์ภาพทางเดินดังกล่าวลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ขณะเดียวกันคอโซเชียลกับโลกใบเล็กๆ บนหน้าจอ กลับไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงรอบข้าง

ประเด็นนี้จะมองว่า ตลกมันก็ตลกอยู่หรอกครับ แต่ถ้ามองให้ซีเรียสมันก็ซีเรียส เพราะการที่เราไม่ได้สนใจในสิ่งรอบข้าง มันเป็นการละทิ้งทุกอย่างที่อยู่รอบกายอย่างหมดจด

phone-pic-2

ทุกวันนี้เราหาทางออกให้กับการใช้งานสมาร์ทดีไวส์กับเรื่องสาธารณะไม่ได้เลย เช่น มารยาทในการร่วมโต๊ะอาหารทั้งกับคนรัก หรือครอบครัว เหล่านี้มันจะเป็นปัญหากับคนรอบข้าง กระทั่งกลายเป็นปัญหาถึงการรักษาปฎิสัมพันธ์ที่ดีไว้หรือเปล่า ?

บางทีมันถึงเวลาแล้วที่เราควรหวนกลับมานั่งคิดไตร่ตรองดูว่า เรากำลังกลายเป็นคนในยุคที่ทุกคนในสังคมต่างก้มหน้าโดยสมบูรณ์แล้วหรือยัง !?

ภาพ: 1, 2, 3, 4