Lazada

แคสเปอร์สกี้แนะบันได 5 ขั้นสู่ Digital Transformation

การปรับเปลี่ยนต่างๆ ในปัจจุบันล้วนเริ่มจากภาคส่วนหนึ่ง นั่นคือ “ดิจิทัล” จำนวนผู้บริโภคทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้สูงถึง 310 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2025 มาตั้งแต่ปี 2020 ล่วงหน้าก่อนถึงห้าปี ซึ่งจำนวนที่เพิ่มมาอย่างมากนี้มาจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกจำนวน 40 ล้านรายจากอินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา

ผลที่ตามมา คือ ความจำเป็นเร่งด่วนของธุรกิจต่างๆ ในการปรับโครงสร้างพื้นฐาน รูปแบบธุรกิจ รวมทั้งวิธีการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ความเสี่ยงรุมเร้าธุรกิจที่ต้องเผชิญกระแสดิจิทัล ท่ามกลางความกดดันจากวิกฤตการณ์โลกรอบตัว

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การคร่ำหวอดในวงการไอทีมากว่า 28 ปี ทำให้ผมได้มีโอกาสได้เห็นพัฒนาต่างๆ ทั้งขาขึ้นและขาลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและโปรโตคอล การซื้อและควบรวมธุรกิจ การลอยแพพนักงาน และการปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ มามากมาย แต่ก็ยังไม่เคยเห็นความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนองค์กรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาดนี้ จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด”

นายเซียง เทียง โยว ระบุว่า ในการวางแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล องค์กรควรพิจารณาห้าประเด็นสำคัญที่ไม่ควรพลาด ด้วยแรงบันดาลใจจากตำราพิชัยสงครามของซุนวู (Sun Tzu’s Art of War) หลักเกณฑ์และตัวอย่างทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดเห็นและการสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงอุตสาหกรรมไอทีของนายเซียง เทียง โยว กลยุทธ์ทั้ง 5 นี้คือ 五事:道、天、地、将、法 หรือแปลเป็นไทยได้ว่า วิถีแห่งเต๋า วิถีฟ้า มรรคาดิน เจตจำนงค์ วินัยทัพ

1. การจัดกระบวนทัพ (Alignment) – การจัดกระบวนทัพเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ไล่ตั้งแต่ระดับแม่ทัพอย่างกรรมการบริหารหรือ CEO ไปจนถึงพลทหารแนวหน้าที่เปรียบได้กับพนักงานฝ่ายบริการลูกค้าและฝ่ายขาย หากกระบวนทัพถูกจัดให้เป็นหมวดหมู่ อย่างเป็นระเบียบ บรรดาทหารก็สามารถรับมือกับศึกใหญ่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดได้ ดังนั้น “คุณค่าร่วม” และ “กลยุทธ์” จาก McKinsey 7-S Model จึงน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับแนวคิดนี้ที่สุด

น่าเสียดายที่ทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่มองผู้ถือหุ้นว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ต้องเอาใจ โดยมีพนักงานเป็นเพียงฟันเฟืองซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

เมื่อควบคู่ไปกับการใช้วิธีซื้อขายหุ้นของบริษัทโดยอิงจากหนี้สินเป็นฐานในแบบที่ไม่ลงตัว เจ้าของกิจการก็ไม่ใช่เจ้าของอีกต่อไป และที่น่าเศร้าก็คือพนักงานที่สภาพความเป็นอยู่ขึ้นกับทางบริษัท ก็ไม่สามารถแสดงความเห็นได้

โชคยังดี ที่เรื่องนี้อาจเกิดได้จริงกับองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าซึ่งมีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำเท่านั้น ส่วนองค์กรธุรกิจที่มีขนาดย่อมลงมา จิตวิญญาณของบริษัทคือด้ายที่มัดหลอมรวมทุกคนไว้ด้วยกัน หากปราศจากการกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ภายใต้การสื่อสารที่ดีเลิศ เพียงแค่องค์ประกอบเล็ก ๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่ยากจะเรียกใช้และจัดสรรได้

ด้วยการนำตรรกะนี้ไปใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารระดับ C-suite ไปจนถึงพนักงานระดับล่างสุดจะต้องมีการจัดโครงสร้างอย่างถูกต้อง มีการจัดสรร มีความตื่นตัว และพร้อมที่จะทำงานเสมอ

ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้คือ บริษัทผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลรายย่อยได้อย่างไร สำคัญมากที่บริษัทต้องมีการจัดกระบวนทัพมาเป็นอย่างดีเพื่อดำเนินการในด้านนี้ บริษัทจะต้องเข้าใจว่าการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลรายย่อยนั้นคืออีกช่องทางหนึ่งของการเข้าถึงลูกค้ารายเดิม ดังนั้น สำหรับบริษัทที่ไม่มีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับช่องทาง omni-channel ก็จะลงท้ายที่การตั้งแผนกใหม่ขึ้นมาเพื่อวางเป้าหมายด้านนี้ โดยปราศจากการระดมช่องทางอื่นๆ ที่มีอยู่เข้ามาร่วมในการแข่งขัน ทำให้เกิดแนวทางที่ผิดพลาดซึ่งทำให้บริษัทต้องแตกออก

2. รู้แจ้งฟ้าจบดิน (Natural elements) – การรู้แจ้งฟ้าจบดิน หมายถึง การรู้ซึ้งถึงการเลือกช่วงเวลาและสภาพอากาศ ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การจับจังหวะถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ที่น่าสนใจคือ แนวคิดของการรู้จังหวะนี้ยังสอดคล้องกับในหลาย ๆ แนวทางของการศึกษาปรัชญาจีนโบราณ เช่น คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (เต๋าเต็กเก็ง) ของเล่าจื่อ ผู้อุทิศตนให้กับวิถีแห่ง “เต๋า” 人法地 คนตามกฎดิน 地法天 ดินตามกฎฟ้า 天法道 ฟ้าตามกฎเต๋า 道法自然 เต๋าดำรงอยู่ตามวิถีธรรมชาติ สำหรับผู้ที่เคยเห็นเหล่าปรมาจารย์ออกกระบวนท่ามวยไท้เก๊กแล้ว จะเห็นว่าการออกกระบวนท่าตอบโต้ศัตรูนั้นต้องอาศัยเรื่องของการจับจังหวะในการซึมซับการโจมตีเหล่านั้นไว้ด้วยการเคลื่อนไหวคล้อยตามแรงโจมตี มิใช่ต่อต้าน เช่นเดียวกับต้นไผ่ที่เอนลู่ลม

เราต่างก็ตระหนักกันดีว่าการเกิดโรคระบาดในเวลานี้ได้ก่อให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ทั่วทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่ออิงกับหลักปรัชญา “เต๋า” ธุรกิจไม่ว่าจะรูปแบบหรือขนาดใด ก็ต้องมีการเดินหน้าไปกับการประกาศล็อกดาวน์และข้อห้ามต่างๆ ที่เอาแน่ไม่ได้ จึงไม่มีหนทางอื่นนอกจากการพึ่งพาศักยภาพของเทคโนโลยี

คาดการณ์ว่าการทำธุรกรรมออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 กล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมมากในการที่จะเริ่มต้นปรับเปลี่ยนทางกายภาพขององค์กร และหันมาใช้ระบบการให้บริการแบบออนไลน์แทน ตั้งแต่แบบฟอร์มที่กรอก การชำระเงิน ไปจนถึงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากองค์กรยังไม่ได้เริ่มพิจารณาเรื่องนี้ล่ะก็ควรลงมือได้แล้ว

3. รู้แจ้งชัยภูมิ (Physical elements) – คุณอาจสงสัยว่าการรู้แจ้งชัยภูมินั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่มีสภาพภูมิประเทศแวดล้อม เช่น อินเทอร์เน็ต ได้อย่างไร ในอดีต การรู้แจ้งชัยภูมิคือความรู้ที่ว่าด้วยการเดินทัพ ตั้งแต่ระยะทางที่ทหารต้องเดินทัพไปจนถึงสภาพภูมิประเทศของสนามรบ และในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ว่าด้วยตลาดที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่นั่นเอง

การพิจารณาตลาดเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด มันไม่ใช่แค่การสำรวจในเชิงภูมิศาสตร์ของตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสำรวจเพื่อหาแนวทางในการเข้าสู่ตลาด และการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ของทางบริษัท ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตอาจเลือกไปลงทุนในประเทศที่ไม่ถูกระบุไว้เพื่อเลี่ยงการกระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศของคู่ค้าทางธุรกิจ หรืออาจเลือกกลุ่มเป้าหมายใหม่ (คนวัยหนุ่มสาว) เข้าถึงได้ผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย และขายผ่านช่องทางออนไลน์ล้วนๆ

4. แม่ทัพ (Managers) – อันกลยุทธ์สุดพิสดารปานใดก็มิอาจสำแดงเดชได้หากไร้ซึ่งแม่ทัพ ภาวะการระบาดในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตทางธุรกิจ และการสำรวจล่าสุดของเราก็เปิดเผยว่า ผู้จัดการคือบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกใช้นวัตกรรม

บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (96%) ยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูง เช่น กรรมการบริหารเป็นผู้ดำเนินบทบาทในด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ นี่จึงแปลว่าหากนวัตกรรมนั้นมีน้ำหนักมากกว่าที่เห็น อาจก่อให้เกิดการขับเคลื่อนมากขึ้น และนี่จะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนแปลงได้จนถึงระดับรากฐานที่ฝังลึกไปจนกระทั่ง DNA ขององค์กรเลยทีเดียว

การจัดกระบวนแม่ทัพตลอดทั้งโครงสร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ การดำเนินการต้องมีความสอดคล้องกันไปตลอดทางยันหางแถว นั่นหมายถึง การมีผู้บริหารหลายระดับคือกุญแจสู่ความสำเร็จ และไม่ใช่แค่การก้มหัวรับคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น หลายครั้งที่เราได้เห็นการขับเคลื่อนจากชั้นบนสุดแต่ความพยายามกลับถูกสกัดจากระดับผู้จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้จัดการสายงานที่คุ้นเคยอยู่กับการหากินในตลาดเดิมๆ ใช้งานเครื่องมือเก่าๆ หรือง่ายๆ ก็คือเป็นพวกหัวแข็งไม่ยอมให้ใครโน้มน้าวได้ง่าย

สติปัญญา ซื่อสัตย์ กล้าหาญ คุณธรรม ความกล้า เข้มงวด 5 คำนี้คือคุณสมบัติยอดขุนพล (ผู้จัดการ) ที่เราต้องใช้ในการเฟ้นหาผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ ( 将者,智、信、仁、勇、严也。)

5. โครงสร้างเหล่าทัพ และระเบียบ / แนวทาง (Structure and Protocols / Process) – ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปลดปล่อยเราออกจากความจำเป็นในการตัดถนนเพื่อส่งเสบียง ในการลำเลียงกำลังพลลงไปสู่กองร้อยย่อยอย่างเหมาะสม และเพื่อควบคุมงบประมาณการทำศึก อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนเป็นความจำเป็นในการวางแผนของเราที่จะก้าวเดิน โดยพิจารณาจากสินทรัพย์ที่เรามี กำหนดแนวทางของเราใหม่ และฝึกฝนพนักงานของเราตามปกติ

ตัวอย่างเช่น แบบสำรวจฉบับเดียวกันเผยให้เห็นว่า 95% ของนวัตกรรมในองค์กรล้มเหลวก่อนจะเริ่มใช้งาน และต้นตอของความพินาศคือขาดการวางแผนที่ดี ย้อนกลับไปยังการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล จำเป็นจะต้องมีการกำหนดถึงแนวทางที่ชัดเจน มีระบบตรวจรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมกับเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน แผนงานนำทางที่ชัดเจน และฝ่ายปฏิบัติงานที่จะรับผิดชอบหน้าที่นี้เพื่อดำนเนินการให้ประสบความสำเร็จ

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดอาวุธให้กับองค์กรเพื่อความพร้อมรบก่อนที่จะขับเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านที่ไม่อาจย้อนกลับได้ ต้องแน่ใจว่าคุณมีเครื่องมือที่อัปเดตและมั่นคงปลอดภัย มีการทบทวนและดัดแปลงการดำเนินงานให้ราบลื่นสู่การเป็นดิจิทัลครั้งแรกให้ได้ และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและจัดการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสู่สภาพแวดล้อม IT ขององค์กร

การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์นั้นมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างไร สิ่งหนึ่งที่องค์กรคิดผิดพลาดมาตลอดคือการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์คืออุปสรรคต่อนวัตกรรม ซึ่งระบุอยู่ในแบบสำรวจล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ ด้วยจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 54% ทั้งนี้ ข่าวเกี่ยวกับข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีโดยแรมซัมแวร์ควรถูกพิจารณาเป็นสัญญาณเตือนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดสำหรับแนวคิดนี้ ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่รั่วไหลออกไปจะทำให้องค์กรต้องถอยหลังในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพราะสามารถสะเทือนไปจนถึงชั้นโครงสร้างรากฐานได้ นี่จึงเปรียบได้กับสมัยโบราณที่เมื่อเดินทัพหน้าเร็วเกินไป ก็จะทำให้แนวเสบียงถูกยืดออก และเสี่ยงต่อการถูกปล้นจนทำให้ทัพหน้าอยู่ในสภาวะอดอยากขาดอาหารก่อนที่จะเดินทัพถึงเป้าหมาย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องครอบคลุมการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เป็นลำดับต้นๆ