Lazada

วว. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม เพื่อกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับและเครือข่ายนานาชาติตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน @ จังหวัดเลย

ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับและเครือข่ายนานาชาติ ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน ซึ่ง วว. จัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม โรงแรมวิลล่า เดอ พันตา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมี ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศนก. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน กิจกรรมการอบรมฯ ครั้งนี้ มุ่งพัฒนาศักยภาพให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การเสวนา “แนวทางการพัฒนาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ” การบรรยายเรื่อง ภาพรวมไม้ดอกไม้ประดับในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย คุณสราวุฒิ ฉันทจิตปรีชา นักวิชาการเกษตร สถานเอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย การบรรยายเรื่อง แนวทางการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย โดย รศ.ธัญญะ เตชะศีลพิทักษ์ ข้าราชการบำนาญ การบรรยายเรื่อง ธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลก โดย Dr. Kenichi Suzuki (Research Director) บริษัท Suntory Flowers ประเทศญี่ปุ่น การบรรยายเรื่อง การรักษาคุณภาพไม้ดอกไม้ประดับหลังการเก็บเกี่ยว โดย Mr. Hiroshi Takemasa (Managing Director) บริษัท Bangkok Otakaki Co.LTD ประเทศญี่ปุ่น การบรรยายเชิงปฏิบัติการเรื่อง นำเสนอผลิตภัณฑ์ไม้ดอกไม้ประดับ โดยผู้ประกอบการในจังหวัดเลย ได้แก่ คุณลักขณา แสนบุ่งค้อ ผู้ประกอบการอำเภอภูหลวง คุณบุญคอง สายคำตั้ง ผู้ประกอบการในอำเภอเมือง คุณสมบัติ ศรีเมือง ผู้ประกอบการอำเภอท่าลี่ และคุณชัยนาท สุคงเจริญ ผู้ประกอบการอำเภอด่านซ้าย
อนึ่ง “มาลัยวิทยสถาน” ทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ ยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้ 1) นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2) พัฒนาข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่น สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3) พัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำการเกษตรแบบปลอดภัย 4) ยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ 5) พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค 6) ช่วยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 7) สร้างมูลค่าตามแนวทางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน