Lazada

รู้รอบ!! เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ในงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022

รู้รอบ!! เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ในงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022

LINE ประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจประจำปี LINE THAILAND BUSINESS 2022 การรวมตัวกันของกูรูเศรษฐกิจและธุรกิจครั้งใหญ่ พร้อมข้อมูลที่น่าสนใจมาเปิดเผยมากมาย โดยเฉพาะด้านภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค และเทรนด์ของผู้คนบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ภาคธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในวิทยากรคนสำคัญ ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ MACROECONOMIC OUTLOOK เปิดเผยถึงข้อมูลสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 และได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อันมาจาก 3 ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดรวมกันเป็น 60% ของ GDP โลก การเคลื่อนไหวของ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้ จึงสามารถชี้ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจของโลกได้

มรสุมเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคสำคัญ : อเมริกา ยุโรป และจีน
จากความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เกิดจากการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงของการปิดเมืองช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ยังคงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยไม่สนเรื่องจะทำให้เศรษฐกิจชะลอ มีการคาดการณ์ว่าภายในกลางปีหน้า ดอกเบี้ยสหรัฐจะแตะ 5% จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 4% ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป ก็มีปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งราคาพลังงานสูงมาก การขาดแคลนอาหารและปัจจัยการผลิต จากสงครามยูเครน รัสเซีย จนทำให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นที่เรียบร้อย ด้านจีน ก็มีความน่ากังวลเช่นกัน จากมาตรการปิดเมือง ZERO COVID ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ไม่เต็มที่และขาดความต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจจีนที่ปกติเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% คาดการณ์จะขยายตัวเหลือเพียง 4% ในปีหน้า และเมื่อ 3 เศรษฐกิจใหญ่ของโลกมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อกลับมามองเศรษฐกิจไทย ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาส 3 นี้ จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นมากจากภาคบริการจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว แต่ก็นับเป็นเพียงสถิติเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในอดีต สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในมุมมองมหภาค คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเมื่อดูจากตัวเลขนำเข้าส่งออก จะเห็นว่าตัวเลขการนำเข้าของไทย หากตัดการนำเข้าพลังงานและทองคำทิ้ง จะมีพลังซื้อการนำเข้าที่ลดลงมาก นั่นหมายถึงการนำเข้าปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ลดลง สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีการผลิตสินค้าที่ลดลง นำไปสู่การส่งออกที่ลดลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ผลที่ตามมาคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีการซื้อมากกว่าการขายออกไป ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนลงไปอีก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำของไทย ยิ่งเป็นปัจจัยให้เงินทุนไหลออกไปต่างประเทศ ส่วนในด้านของตลาดหนี้ โดยเฉพาะหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจ SME ถือว่ายังไม่ฟื้นตัว และหนี้สำหรับครัวเรือนก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยปัจจุบัน ยังมีปัจจัยความเสี่ยงอีกหลายด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวล ที่ภาคธุรกิจไทยต้องจับตามองและเฝ้าระวัง

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นในทิศทางบวกหรือลบ คาดการณ์ว่าจะได้เห็นทิศทางชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น 1) การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่หากมีการรชะลอตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้ดี ก็จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยไปด้วย เพราะไม่มีความกดดันเพิ่มให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขึ้นดอกเบี้ย 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป 3) การยกเลิกมาตรการ ZERO COVID ของจีน และเปิดประเทศ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อประเทศไทยในเรื่องของการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มเม็ดเงินจากต่างประเทศ 4) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ต้องระวังไม่ให้ขาดดุลมาก และ 5) เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งหากกำหนดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น ได้รัฐบาลยุคใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชน ก็จะยิ่งส่งผลในเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

ไม่เพียงความวุ่นวายทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ พฤติกรรมของผู้คนบนโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว ภายในงาน LINE THAILAND BUSINESS ยังได้มีผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันข้อมูลในส่วนนี้ด้วย โดย มร. อเล็กซานเดอร์ โกรมอฟ และ ดาลัด ตันติประสงค์ชัย พาร์ทเนอร์ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก โดยได้ให้ข้อมูลถึง 6 เทรนด์สำคัญของโลก ที่ธุรกิจต้องตระหนัก จับตามอง พร้อมปรับตัวตาม ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การดูแลสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการกินอยู่ที่ดี โดยผู้คนในปัจจุบันยินดีและยอมรับที่จะจ่ายเพิ่มส่วนต่างในการบริโภค เช่น ซื้อถุงเพิ่มในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ในด้านของการจับจ่ายใช้สอย ช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการช้อปปิ้ง ถึงแม้คนจะยังมาเดินช้อปปิ้งในศูนย์การค้า แต่เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ หลายครั้งก็จะหันกลับไปหาข้อมูลเพิ่มในออนไลน์ นอกจากนั้น ยังยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์ง่ายขึ้น หากมีแบรนด์ที่นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจมากกว่า อีกทั้ง ผู้บริโภคในยุคนี้ คาดหวังที่จะได้รับการบริการหรือการสื่อสารในแบบ Hyper Personalization รับข้อมูลหรือจะพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือตรงกับตนเองเท่านั้น และที่สำคัญเทรนด์ที่มาแรงมาในเอเชีย คือ การใช้ช่องทาง Social Commerce ในการซื้อขายสินค้า เห็นได้จากมูลค่าของ Social Commerce ในจีน ที่มีมูลค่าถึง 360 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยนับเป็น 13.1% ของธุรกิจ E-commerce ทั้งประเทศจีน ที่ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐฯ ยังต้องการศึกษาเพื่อดำเนินรอยตาม ที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดไม่สิ้นสุด โดยเรามองเห็นพฤติกรรมอีกหลากหลาย ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ การเกิดขึ้นของโลกเมตาเวิร์ส หรือแม้แต่อาชีพใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น อาชีพครีเอเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ยังชี้ให้เห็นถึง พัฒนาการที่เกิดขึ้นบนโลกที่มีความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ความต้องการพื้นฐานของผู้คน ที่ยังมีความต้องการสินค้าและบริการพื้นฐานปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตเหมือนเดิม แต่ธุรกิจต้องเพิ่มเติมในเรื่องของความรวดเร็ว ความสะดวกง่ายดายในการเข้าถึง และการนำเสนอที่ตรงใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอด ซึ่งจะสร้างระบบนิเวศของธุรกิจให้สมบูรณ์เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองระดับมหภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะต้องรู้และอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะตั้งรับ ปรับตัว ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในทุกช่วงเวลา สาระความรู้ในงาน LINE THAILAND BUSINESS ยังมีน่าสนใจอีกมาก ทั้งในเรื่องกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ การเจาะลึกเครื่องมือการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมย้อนหลังและอัพเดทข้อมูลสำคัญในการทำธุรกิจบน LINE ได้ที่ FB: LINE for Business