Lazada

บทความ : พระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 กับ อากาศยานไร้คนขับ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ผู้คนส่วนใหญ่จะได้ยินหรือรู้จักกับคำว่า “โดรน DRONE” หรือถ้าจะเรียกอย่างเป็นทางการคือ “อากาศยานไร้คนขับ หรือ UNMANNED AERIAL VEHICLE – UAV” ซึ่งยานพาหนะตัวนี้ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะนำมาใช้ในงานของทางราชการ งานของเอกชน หรือบุคคลทั่วไป งานราชการ เช่น การสำรวจพื้นที่ การสำรวจเหตุอุทกภัย การสำรวจรังวัดพื้นที่เขตป่าสงวน หรือใช้ในราชการทหาร เช่น ทางยุทธวิธี ฯลฯ ส่วนของเอกชนก็นำมาใช้ในงานถ่ายภาพเทศกาลต่าง ๆ หรือถ่ายภาพโฆษณา ถ่ายเพื่อความสนุกสนาน ถ่ายสำรวจรังวัดพื้นที่ สำรวจเส้นทาง หรือพ่นยาฆ่าแมลง เป็นต้น

การใช้ โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ โดยเฉพาะของเอกชนหรือบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่หน่วยงานของราชการ การจะใช้งานหรือทำการบินได้ จะต้องมีการจดทะเบียนโดรน มีการขออนุญาตใช้โดรน และขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ เนื่องจากพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 ได้ถือว่า “โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ” เป็นอากาศยานประเภทหนึ่ง ตามคำนิยามตาม พระราชบัญญัติเดินอากาศ “อากาศยาน หมายความรวมถึงเครื่องทั้งสิ้นซึ่งทรงตัวในบรรยากาศโดยปฏิกิริยาแห่งอากาศ เว้นแต่วัตถุซึ่งระบุยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง” ทั้งนี้ “กฎกระทรวงกำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548” กำหนดให้ “เครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น” ไม่เป็นอากาศยาน แต่มิได้ยกเว้น “เฮลิคอปเตอร์ซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น” ไว้แต่ประการใด โดรนจึงถือเป็น อากาศยานตามนิยามข้างต้น แต่เพราะโดรนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งแม้จะใช้เป็นเครื่องเล่น ก็ถือว่าเป็นอากาศยานตามพระราชบัญญัติเดินอากาศ
จากการที่ถือว่า โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นอากาศยานตามพระราชบัญญัติเดินอากาศ ทำให้การใช้งานโดรนในส่วนของเอกชนจะต้องมีการจดทะเบียนและขออนุญาตใช้ ตามกฎระเบียบของพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 ดังนี้
1. การใช้อากาศยาน กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตและห้ามมิให้ใช้อากาศยานขึ้นลงนอกจากสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
2. การจดทะเบียนและเครื่องหมายอากาศยาน ผู้ซึ่งจะขอจดทะเบียนอากาศยานจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องมีสัญชาติไทย และต้องเป็นเจ้าของอากาศยานที่ขอจดทะเบียน หรือถ้ามิได้เป็นเจ้าของต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง อากาศยานและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้จดทะเบียนได้
3. ผู้ประจำหน้าที่อากาศยาน ผู้ประจำหน้าที่ หมายความว่า นักบิน ต้นหน นายช่าง พนักงานวิทยุ พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ พนักงานอำนวยการบิน และผู้ทำหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประจำหน้าที่ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญา หรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย และผู้ประจำหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวินัยที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน
4. สนามบินและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดจัดตั้งสนามบินหรือเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรี การขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินและเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ในส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ สามารถจัดเก็บได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน
5. บทกำหนดโทษ บทกำหนดโทษในพระราชบัญญัตินี้กำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลซึ่งกระทำการฝ่าฝืนตามบทบัญญัติต่าง ๆ ที่พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้
จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า หลักใหญ่ๆ จะใช้กำกับดูแลสำหรับอากาศยานลำใหญ่ แต่สำหรับโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ซึ่งมีขนาดเล็กและส่วนใหญ่ใช้เพื่อความสนุกสนาน หรือทำกิจกรรมบางประการเท่านั้น ไม่ใช่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เหมือนอากาศยานขนาดใหญ่ ดังนั้นหากจะมากำหนดให้โดรนต้องไปใช้สนามบินอนุญาตในการขึ้นลง หรือต้องบินในเส้นทางที่กำหนด หรือต้องมีการทำแผนการบินแจ้งหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศ หรือผู้ครอบครองโดรนจะต้องจดทะเบียนสัญชาติโดรน ขอใบสำคัญสมควรการเดินอากาศ ต้องมีใบอนุญาตผลิตอากาศยานหากเป็นผู้ผลิตโดรนขาย ต้องมีใบอนุญาตเป็นหน่วยงานสำหรับซ่อมอากาศยานหากจะทำการซ่อมแซมโดรน หรือแม้แต่ผู้ที่อยากจะเล่นโดรนเพื่อความสนุกสนาม ก็ต้องไปทำเรื่องขอใบอนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ในฐานะผู้ควบคุมอากาศยานจากภายนอก และต้องทำแผนการบินทุกครั้งก่อนจะเล่นโดรน แน่นอนว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการการบิน คงไม่ทราบแน่นอนว่า แผนการบินคืออะไร จะต้องขอไปทำไม รับรองงงเป็นไก่ตาแตก นอกจากนี้หากโดรนเกิดอุบัติเหตุ เช่น โดรนตกน้ำ โดรนถูกนกจิกตก (ซึ่งเกิดเป็นประจำ) หรือแบตเตอรี่ไหม้กลางอากาศทำให้โดรนตกพื้น หรือขณะทำการเล่นโดรนเกิดไปโดนบุคคลอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนอากาศยานเกิดอุบัติเหตุตามพระราชบัญญัติเดินอากาศ และยิ่งไปกว่านั้นหากใครมีโดรนครอบครองไว้ที่บ้าน อาจถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้นบ้านได้ในฐานที่เป็นสถานที่เก็บอากาศยาน

ลองนึกภาพดูหากบังคับใช้กฎหมายตามที่เป็นอยู่จะเกิดความวุ่นวายสับสนขนาดไหน เพราะบทบัญญัติเหล่านั้นมิได้ออกแบบมาสำหรับลักษณะการใช้งานของโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ การจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรมีการออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดมิให้ถือเป็นอากาศยาน เมื่อยกเว้นแล้วจะทำให้วัตถุนั้นจะอยู่นอกการบังคับตามพระราชบัญญัติเดินอากาศได้ เช่น ใช้เกณฑ์เรื่องวัตถุประสงค์ เวลา สถานที่ และเงื่อนไขบางประการ เป็นกรอบในการยกเว้นการเป็นอากาศยานได้ เช่น กฎกระทรวงอาจกำหนดว่าโดรนที่เป็นเครื่องเล่น ให้เล่นในเวลากลางวัน ในพื้นที่ที่จัดไว้เพื่อการนั้น กำหนดบินสูงไม่เกินกว่า 150 เมตร จึงจะไม่ถือเป็นอากาศยาน เมื่อยกเว้นแล้วบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติเดินอากาศก็ไม่นำมาใช้บังคับ แต่หากผิดเงื่อนไขก็จะกลายมาเป็นอากาศยานอันอยู่ใต้บังคับของพระราชบัญญัติเดินอากาศทั้งฉบับ ซึ่งเท่ากับเป็นการผิดบทบัญญัติต่างๆ ในพระราชบัญญัติเดินอากาศโดยทันที
ปัจจุบันได้มีการประกาศให้ผู้ที่จะใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับจะต้องได้รับหนังสืออนุญาต 3 ลักษณะ ได้แก่
1. การอนุญาตเป็นหนังสือทั่วไปแก่ประชาชนสำหรับโดรนที่น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ที่ใช้ในการเล่นเป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา
2. การอนุญาตเป็นหนังสือ การขึ้นทะเบียนสำหรับโดรนที่น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ที่ใช้ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา กรณีหนึ่ง และสำหรับโดรนที่น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัมที่ใช้เพื่อการอื่นๆ เช่น รายงานข่าว ถ่ายภาพ ถ่ายหนัง วิจัยและพัฒนาอากาศยาน อีกกรณีหนึ่ง
3. การอนุญาตเป็นหนังสือเฉพาะราย กรณีนี้สำหรับโดรนที่น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด
นอกจากนี้ได้ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 โดยถือว่าโดรนเป็น อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ซึ่งคำๆ นี้ฟังดูแล้วอาจจะแปลกๆ ต่างกับคำที่เรียกโดรนว่า อากาศยานไร้คนขับ จะมองภาพได้ชัดเจนกว่า ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตกลงจะให้เรียกอย่างไรดี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ดังนี้
“อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก” หมายความว่า อากาศยานที่ควบคุมการบินโดยผู้ควบคุมการบินอยู่ภายนอกอากาศยานและใช้ระบบควบคุมอากาศยาน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเครื่องบินเล็ก ซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวงกาหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548
“ระบบควบคุมอากาศยาน” หมายความว่า ชุดอุปกรณ์อันประกอบด้วยเครื่องเชื่อมโยงคำสั่งควบคุม หรือการบังคับอากาศยาน รวมทั้งสถานีหรือสถานที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์เหล่านี้ หรือเครื่องมือที่ใช้ควบคุมการบินจากภายนอกและตัวอากาศยานด้วย
ในประกาศราชกิจจาดังกล่าวยังกำหนดรายละเอียดอื่นๆ อีกด้วย เช่น – ประเภทของอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก 2 ประเภท คือ ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา และประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มีน้าหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม
– เกณฑ์การการอนุญาตให้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
– เงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติก่อนที่จะทำการบิน หรือระหว่างทำการบิน
– คุณสมบัติของผู้ที่จะทำการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
– การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน
– เงื่อนไขของผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องปฏิบัติก่อนทำการบิน หรือระหว่างทำการบิน
– คุณสมบัติและลักษณะของผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานตามวัตถุประสงค์อื่น
– รายละเอียดการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีพร้อมเอกสารและหลักฐาน สำหรับผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
– ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยาน
จากที่กล่าวมาคนทั่วไปอาจเห็นว่าการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อความสนุกสนาน หรือทำธุรกิจต่างๆ ไม่น่าจะต้องดำเนินการอะไรมากมาย แต่ในสายตาของหน่วยงานราชการโดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมอากาศยาน เช่น สำนักงาน
4. คณะกรรมการบินพลเรือน มีความเห็นว่า โดรนคืออากาศยานประเภทหนึ่ง จึงควรมีกฎข้อบังคับเหมือนอากาศยาน อื่นๆ แต่กฎระเบียบข้อบังคับที่สำนักงานคณะกรรมการบินพลเรือนออกมานั้น ควรจะปรับหรือประยุกต์ให้เหมาะสมกับโดรน เพราะโดรนเป็นเพียงอากาศยานลำเล็กๆ ไม่ใช่อากาศยานลำใหญ่ หรือเครื่องบินทั่วไปเช่น Boeing787 Airbus380 การจะนำกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับอากาศยานลำใหญ่มาใช้กับโดรนคงไม่เหมาะสม และส่วนใหญ่กฎระเบียบข้อบังคับก็จะใช้บังคับแก่ประชาชนชน หน่วยงานรัฐควรจะมีกฎหมายคุ้มครองประชาชน เพื่อป้องกันกับทางราชการไปใช้ประโยชน์จากการใช้โดรนในการสอดแนมด้วยเช่นกัน และควรมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องโดรนไว้ด้วย เช่น กรณีนำโดรนไปใช้ต่างประเทศจะต้องขออนุญาตจากประเทศต้นทางได้เลยหรือไม่อย่างใด
ปัจจุบันจะเห็นว่าวิวัฒนาการต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี การจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในชีวิตประจำวัน หากนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากนำไปใช้ในทางที่ผิดผลเสียย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นหน่วยงานรัฐจึงได้ออกกฎระเบียบข้อบังคับออกมาใช้บังคับเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย แต่ควรพิจารณาด้วยว่า กฎระเบียบข้อบังคับที่ออกมานั้นเหมาะสมกับความเป็นจริงหรือไม่ ควรปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดข้อปัญหาในการบังคับใช้ ดังเช่นการใช้โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ หรือ อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนกร ณรงค์วานิช
วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม