กิจกรรม U2T4BCG Showcase มหาวิทยาลัยพะเยา           

                   

          มหาวิทยาลัยพะเยา กองบริหารงานวิจัย จัดกิจกรรม U2T4BCG Showcase ซึ่งเป็นกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้มอบหมายจาก กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ซึ่งเป็นการต่อยอดของการดำเนินงานจาก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลการดำเนินงาน และเป็นการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาภายใต้โครงการ ให้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน                  

          วันที่ 20 กันยายน 2565  อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม U2T4BCG Showcase โดยมี ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย นางสาวอัญชลี เทียมคีรี เป็นผู้แทนกล่าวรายงาน พร้อมด้วยการรายงานผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐาน รากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) โดยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย ภายในงานได้รับเกียรติจาก ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม นางสาวนิศากร จึงเจริญธรรม บรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนโครงการ U2T4BCG เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และรับเกียรติจากคณะผู้บริหารจากส่วนงานราชการที่เป็นเครือข่ายในการดำเนินงานเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

          โดยในกิจกรรม ได้มีการจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการ U2T4BCG product Showcase จำนวน 98 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดพะเยา ๖๘ ตำบล จังหวัดเชียงราย 25 ตำบล จังหวัดน่าน ๓ตำบล และจังหวัดลำปาง 2 ตำบล และกิจกรรมเดินแบบ U2T Product Showcase รวมไปถึงการประกวดรางวัล U2T4BCG Showcase Awards ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา                     

           ทั้งนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยพะเยามุ่งมั่นในปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และเป็น มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากลอย่างยั่งยืน ที่พร้อมด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ ผลิตงานวิจัยที่เป็นรากฐานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ก้าวหน้า สามารถถ่ายทอดความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและภาคอุตสาหกรรมได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นพื้นที่ ให้ผู้ดำเนินงานได้นำเสนอผลงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้บุคลากร นักวิจัย ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการดำเนินโครงการ สื่อสารบทบาทการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน เพื่อเกิดการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อชุมชน สู่การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน”