Lazada

Review: Trinet Phone Cheetah สมาร์ทโฟนประเดิมกลยุทธ์บุกตลาด 3G

Trinet Phone Cheetah

อย่างที่ทราบกันดีครับว่า เครือข่าย 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าย A ค่าย D และค่าย T ต่างก็เตรียมงัดกลยุทธ์ออกมาตามแต่ใครจะถนัด ซึ่งกลยุทธ์แรกที่ออกมา คือ การจำหน่ายสมาร์ทโฟนในแบรนด์ตัวเองออกมา ด้วยการว่าจ้างให้ทำเป็นในรูปแบบ OEM

ซึ่งในวันนี้สมาร์ทโฟนของค่าย D หรือที่เรารู้จักกันในนาม Dtac ได้ส่งเครื่องมาให้ทีมงาน Mobiledista ได้ทดสอบ โดยเครื่องรุ่นนี้ จัดเป็นตัวท็อปใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Cheetah

สัมผัสแรก

Trinet Phone Cheetah 2

ก่อนที่จะได้จับตัวเครื่อง Cheetah รุ่นนี้ ผู้เขียนทราบมาก่อนแล้วว่า ดีแทคได้ให้หัวเว่ยเป็นผู้ผลิต OEM ให้ โดยใช้โมเดลของ Huawei Ascend G510 เป็นต้นแบบ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยที่ได้รีวิวไปเมื่อไม่นานมานี้อย่าง Huawei Honor 2

ความรู้สึกเกี่ยวกับรุ่นนี้ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งได้สัมผัส Honor 2 ด้วยตัวเครื่องที่ออกแบบมาอย่างเทอะทะ มีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ขอบจอสีดำเยอะ แต่เรื่องงานประกอบไว้ใจได้ ไม่ก๊องแก๊ง ดูแข็งแรง

สเปกเครื่อง

Trinet Phone Cheetah 9

ต้องยอมรับว่า ด้วยความที่เป็นแบรนด์จีน การคุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการผลิตสามารถทำได้อย่างเยี่ยมยอด จนบางครั้งบางคราทำให้คนที่ติดตามในวงการไอทีอย่างเราๆ รู้สึกอึ้งและทึ่งมานักต่อนักแล้ว โดยสเปกของ Dtac Cheetah รุ่นนี้ มีดังนี้ครับ

Trinet Phone Cheetah SS8

  • ควอลคอมม์ ดูอัลคอร์ 1.2GHz ARM Cortex-A5
  • แอนดรอยด์ Jelly Bean 4.1.1
  • หน้าจอ 4.5 นิ้ว IPS 854×480
  • กล้อง 5 ล้านพิกเซล กล้องหน้า VGA 3 แสนพิกเซล
  • RAM 512MB
  • หน่วยความจำ 4GB +microSD 32GB (สูงสุด)
  • แบตเตอรี 1700mAh

รอบตัวเครื่อง

Trinet Phone Cheetah 3

ด้านหน้า เริ่มจากขนาดหน้าจอ มี LED notification ทางด้านขวา ทางซ้ายเป็นกล้องหน้าความละเอียด VGA ด้านล่างปุ่ม Capacitive 3 ปุ่ม

Trinet Phone Cheetah 4

ด้านซ้าย – ปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง ปุ่ม Rocker ด้านล่างสุดเป็นพอร์ทไมโครยูเอสบี

Trinet Phone Cheetah 5

ด้านขวา – ไม่มีอะไร

Trinet Phone Cheetah 6

ด้านบน – พอร์ทหูฟังขนาดมาตรฐาน

Trinet Phone Cheetah 7

ด้านล่าง – มีไมโครโฟนเล็กๆ และร่องสำหรับแกะเพื่อเปิดฝาหลังเครื่อง

Trinet Phone Cheetah 8

ด้านหลัง – กล้องขนาด 5 ล้านพิกเซล มีแฟลช ลำโพง

ซอฟต์แวร์

Trinet Phone Cheetah SS1

เปิดเครื่องเข้ามาก็เจอ Unlock Screen โทนสีของเครื่องจะเน้นไปที่สีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำของดีแทคนั่นเอง อินเตอร์เฟสของเครื่องพัฒนามาจาก Emotion UI ของหัวเว่ยเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนมาจาก Android Stock ROM ที่เหลือเสริมแต่งด้วยวิดเจ็ตเพื่อบ่งบอกความเป็นดีแทคเข้าไป

Trinet Phone Cheetah SS2

ภายในเครื่องของ Cheetah จะไม่มี App Drawer การแสดงแอปพลิเคชันทั้งหมดจะอยู่บน Homescreen การใช้งานแค่ปาดซ้าย ปาดขวา ซึ่งในส่วนนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกเอฟเฟกต์ได้ว่า ต้องการให้มีรูปแบบเป็นเช่นไร

นอกเหนือจากนี้ ภายในยังมีลูกเล่นให้ปรับแต่งอีกเล็กน้อย นั่นคือ ในส่วนของธีมและรูปแบบของเครื่อง

Trinet Phone Cheetah SS3

ธีม จะมีธีม Default ให้เลือก 5 แบบ เมื่อเลือกปรับแต่งธีมปัจจุบันจะยังมีให้ปรับแต่งอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งการล็อคหน้าจอ วอลเปเปอร์หน้าจอตอนที่ล็อคเครื่อง วอลเปเปอร์หน้าจอหลัก สไตล์ของไอคอนภายในแอป นอกนั้นเป็นการตั้งค่าเสียง

Trinet Phone Cheetah SS4

ต่อมาคือ รูปแบบเป็นสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจนะ ที่มีการออกรูปแบบที่เหมาะกับการใช้งานตามสถานการณ์ เช่น ผู้ใช้กำลังอยู่ในระหว่างการประชุมก็เลือกรูปแบบประชุม ถ้ากำลังเข้าสู้โหมดหลับใหลก็เลือกโหมดสลีป หรือว่าทำงานอยู่ภายนอกก็จะมีรูปแบบการทำงานภายนอกให้เลือก

Dtac Application

แน่นอนว่า Trinet Phone รุ่น Cheetah นี้เป็นผลงานของดีแทค เช่นนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่จะต้องมีแอปพลิเคชันของดีแทคฝังมาให้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ทั้ง Dtac eService, Dtac Watchever, Game Room, Happy Baan Cartoon

Trinet Phone Cheetah SS5

ซึ่งตรงแอป Baan Cartoon ก็แฝงการตลาดอีกนิดนึงด้วยมีบริการซื้อธีมลายการ์ตูนดังๆ พวก Pooh Sanrio

ส่วนแอปพลิเคชันอื่นๆ อย่าง dtacPlay, Deezer, HoroDtac และ SportDtac ต้องใช้ซิมของเครือข่ายดีแทคเท่านั้น

ทดสอบการเล่นเกม

Trinet Phone Cheetah SS6

ขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่นิยมเล่นเกมมากนัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้ติดตามแอปพลิเคชันพวกเกมใหม่ๆ มาก แต่เชื่อว่า ผู้ใช้งานโดยทั่วไปต้องกันบ้าง

ซึ่งจากการทดสอบการเล่นแอปเกมผ่าน Temple Run ตัวเครื่องค่อนข้างกระตุก การวิ่งไม่สมูธ และยิ่งเป็นเกมแนว Endless Running ทำให้การเล่น Temple Run ผ่าน Cheetah ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่

การดูหนัง

Trinet Phone Cheetah SS7

ผู้เขียนทดสอบด้วยวิดีโอความละเอียด 720p ของเรื่อง Game of Thrones ผลที่ได้คือ กระตุกอย่างมาก ทำให้ได้ข้อสรุปง่ายๆ ว่าการดูหนัง เล่นเกมผ่าน Cheetah ไม่เหมาะอย่างยิ่ง

การถ่ายภาพ

อีกหนึ่งความสามารถที่ผู้ใช้งานฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนต้องใช้ นั่นคือ การถ่ายภาพ ซึ่งการถ่ายภาพของ Cheetah การประมวลผล การทำงาน ไม่ถึงกับรวดเร็วนัก ฟีเจอร์ในการปรับแต่งการถ่ายภาพยังมีไม่ค่อยเยอะ หลักๆ จะมีฟิลเตอร์ การปรับแสงขาว ซีนของภาพ

ส่วนคุณภาพที่ออกมา ค่อนข้างกลางๆ ดูจืดๆ  และนี่เป็นตัวอย่างการถ่ายภาพผ่าน Trinet Phone รุ่น Cheetah ครับ

 ภาพตัวอย่าง

IMG_20130703_185142

 

IMG_20130703_182704

ดูภาพเต็มๆ ไม่ลดขนาดได้ที่นี่ครับ http://www.flickr.com/photos/98480851@N08/

คำแนะนำ

สำหรับมือใหม่ของการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งแน่ละผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของเครื่อง Cheetah รุ่นนี้ มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า มาจากกลุ่มผู้ใช้ฟีเจอร์โฟนมาก่อน สิ่งที่ต้องพบเจอประการแรกคือ Internal Storage ค่อนข้างน้อย ต้องเตรียมพวก microSD สักจำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับกับแอปพลิเคชันที่จะใช้งาน

การใช้งานใน 1 วัน

Trinet Phone Cheetah SS10

หลักๆ ในการใช้งานของผู้เขียนก็จะเป็นการใช้เครือข่ายสังคม การจัดการแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก อ่านฟีดข่าวผ่าน Google Current ดู Stats เว็บผ่านแอป Google Analytics ซิงค์โน้ตต่างๆ ผ่าน Evernote และเช็คอีเมล ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการใช้งานที่ค่อนข้างพื้นฐานไม่ได้ผาดโผนอะไรมาก ทำให้สามารถใช้งานได้แทบจะ 1 วันเต็มๆ

ส่วนการเล่นเกม การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ดูหนังแทบจะไม่กระทำผ่าน Trinet Phone Cheetah เพราะคุณภาพที่ออกมานั้น ไม่ดีเท่าที่ควร

ทดสอบด้วย Benchmark

 Trinet Phone Cheetah SS9

จุดขายของ Trinet Phone Cheetah

  • ราคาถูก เมื่อมองถึงสเปกเครื่อง
  • วัสดุประกอบงานใช้ได้
  • สเปกเครื่อง จัดว่าแรงใช้งานได้จริง
  • รองรับซิมอื่นที่ไม่ใช่ Dtac ได้
  • ประกันเครื่องหากมีปัญหานานถึง 15 เดือน แถมถ้าระหว่างการใช้งานเครื่องใน 7 วันแรกมีปัญหาเปลี่ยนให้ใหม่เลย
  • แบตเตอรีอึดดี

จุดบอดของรุ่นนี้

  • การถ่ายภาพที่ยังไม่ดีนัก
  • อาจเล่นแอปเกมที่ต้องการไม่ได้ กระตุก
  • ไม่อาจตอบสนองด้านการดูหนังได้อย่างเต็มที่
  • จอไม่ละเอียด
  • อาจไม่มีการอัปเดทระบบปฏิบัติการให้

เหมาะกับใคร

การถือกำเนิดของ Trinet Phone รุ่น Cheetah นี้ เป็นไปตามกลยุทธ์ทางการตลาดของทางดีแทคที่ต้องการให้ตัวเครื่องล้อไปกับเครือข่าย 3G ที่ดีแทคกำลังชูอยู่ ดังนั้นกลุ่มผู้ใช้ที่จะเป็นลูกค้าของดีแทค จะต้องเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใช้หน้าใหม่ในกลุ่มสมาร์ทโฟน ซึ่งการใช้งานมีรายละเอียดขั้นตอนที่เข้าใจง่าย และไม่น่าจะทำให้ลูกค้าลำบากมากนัก ซึ่งระหว่างการใช้งานก็จะมี Alert คอยเตือนการใช้งานอยู่เสมอๆ

พร้อมกันนี้ภายในยังมีแอปพลิเคชันสอนพื้นฐานการใช้งานอยู่

ที่สำคัญคือ เรื่องของซิมการที่ตัวเครื่องเป็น normal sim นั่นหมายถึงว่า Cheetah เป็นสมาร์ทโฟนที่เสิร์ฟตรงจุดนี้โดยเฉพาะ มิเช่นนั้นแล้วคงเป็น micro-sim แล้วล่ะ