Lazada

กฎหมายใหม่ฝรั่งเศส Gadget ต้องรับประกัน 2 ปี-และจะตกรุ่นตอนไหน

broken-smart-phones-fix

ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศท่ีมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างมาก และตอนนี้กฎหมายใหม่ในดินแดนน้ำหอมกำลังจะครอบคลุมมาถึงสินค้าไอที

ปัจจุบันการเสพย์สินค้าไอทีมีรอบหรืออายุการใช้งานสั้นลง เช่นรอบการใช้งานสมาร์ทโฟนเคยอยู่ที่ 2 ปี ปัจจุบันอาจเหลือเพียงแค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยการบริโภคเหล่านี้จึงทำให้เป็นการส่งเสริมการบริโภคนิยม ส่งผลให้อาจเกิดสภาวะขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง 

เหตุนั้นจึงทำให้ในฝรั่งเศสเริ่มมีการผลักดันข้อกฎหมายตัวใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้น ไปจนถึงการคุ้มครองผู้บริโภคว่า สินค้าไอทีแก๊ดเจ็ตจะมีอายุในตัวของมันเองนานกี่ปี 

ข้อกฎหมายดังกล่าวจะมีการบังคับใช้ให้ผู้ผลิตสินค้าไอที-แก๊ดเจ็ตจำเป็นต้องบอกชัดเจนว่า สินค้าชิ้นนั้นๆ จะมีซัพพอร์ทอะไหล่สำหรับการเปลี่ยนซ่อมต่อเนื่องไปอีกกี่ปี และผู้ผลิตจะต้องรับรองการซ่อมหรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์รุ่นนั้นๆ ในช่วง 2 ปีแรกฟรีหลังการซื้อขาย

ทางด้าน Kyle Wiens ผู้ก่อตั้ง iFixit เว็บไซต์ที่เรารู้จักกันดีในแง่การแกะซ่อมสินค้าไฮเทคต่างๆ พร้อมกับให้เรตติ้งว่า มีความยากในการงัดแงะยากหรือง่าย ไปจนถึงการให้คำแนะนำในการซ่อมสินค้าแก๊ดเจ็ตด้วยตัวเองง่ายๆ ที่บ้าน ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายฉบับนี้ว่า มันเปรียบเสมือนชัยชนะของผู้บริโภค (a huge win for consumers) และเป็นชัยชนะของผู้ผลิตด้วย 

Wiens อธิบายว่า เมื่อมีการกำหนดอายุของสินค้าแต่ละชิ้นให้ชัดเจนขึ้น ผู้ผลิตจะไม่ถูกจำกัดกรอบว่า สินค้าชนิดนั้นๆ จะต้องขายในราคาถูก เพื่อให้ขายสินค้านั้นได้ง่ายๆ  แน่นอนว่าสินค้าที่จะมีราคาถูกได้ หากไม่ใช่การสั่งผลิตครั้งละมากๆ จะต้องมาจากการลดต้นทุนของตัวสินค้าเอง เช่น การนำพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบหลัก แทนที่จะเป็นโลหะ

นอกเหนือจากนี้ Wiens เชื่อว่า ด้วยสภาพข้อกฎหมายที่มีการบังคับใช้แบบนี้ จะยังส่งผลในแง่การแข่งขันทางธุรกิจอีกด้วย เพราะผู้ผลิตจะต้องแข่งขันกันเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด

ความน่าสนใจของกฎหมายในฝรั่งเศสยังมีอีกนิดหน่อยครับ เร็วๆ นี้สภาสูงในฝรั่งเศสเพิ่งผ่านข้อกฎหมายที่ว่า การดีไซน์ที่ทำมาเพื่อตกรุ่น (planned obsolescence) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้ละเมิดจะต้องถูกปรับ 3 แสนยูโร หรือจำคุกสองปี โดยเป้าประสงค์เพื่อวางกรอบยอดการสั่งซื้อของผู้บริโภค แต่เอาเข้าจริงข้อกฎหมายการดีไซน์ที่ทำมาเพื่อตกรุ่น ก็เป็นอะไรที่พิสูจน์เจตนายากเอามากๆ เหมือนกันว่า สินค้าชนิดใดจงใจผลิตมาให้ตกรุ่น หรือสินค้าใดตั้งใจทำมาให้ตกรุ่นช้า

เป้าประสงค์ทั้งหมดนี้ เพื่อควบคุมการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากเกินความพอดี ไม่ให้ส่งผลต่อสภาวะขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองว่า จะมองข้อกฎหมายนี้เป็นในทางบวกหรือทางลบ

ที่มา: fastcoexist

 ภาพ: OutofWarranty