Lazada

[บทความพิเศษ] DTAC กับการตอบปัญหาคาใจเรื่อง TriNet 3 โครงข่ายอัจฉริยะ

dtactrinet

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมได้เป็นตัวแทนของทีมงาน Mobiledista เข้าไปร่วมถกกันเรื่องเกี่ยวกับ DTAC Trinet หรือบริการตัวใหม่ของ DTAC ที่ยกระดับเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาเป็นระบบ 3G ความถี่ 210 MHz แบบเต็มตัว จากเรื่องราวที่คุยกันในวันนั้น ทำให้ผมได้รับความรู้มากมายหลายอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ของ DTAC ในตอนนี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ DTAC Trinet และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ผมจึงอยากเอาเรื่องราวทั้งหมดมาสรุปให้เพื่อนๆ ได้รับรู้กันเอาไว้ด้วย ลองดูกันครับว่าวันนั้น ผมได้รู้อะไรมาบ้าง

เกี่ยวกับสถานการณ์ของ DTAC

หลายๆ คนคงอาจจะคิดว่า DTAC มีแต่ลูกค้าย้ายออกไปเรื่อยๆ ใช่มั้ยล่ะครับ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ในวันที่ผมได้เข้าไปคุยกับทาง DTAC ด้วยนั้น ทาง DTAC ได้บอกเอาไว้ว่าจำนวนผู้เปิดเบอร์ใหม่ของ DTAC นั้นเรียกได้ว่าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจำนวนไม่เป็นรองใครเลยทีเดียว อย่างล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว DTAC มีจำนวนผู้ใช้งานเบอร์ Prepaid ที่เปิดบริการใหม่ที่สูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ด้วยซ้ำ ก่อนที่ต่อมาในปีใหม่ กฎหมายใหม่ของกสทช. ที่บังคับให้ซิมแบบ Prepaid มาอายุจำนวนวันใช้งานที่ยาวนานขึ้นจะถูกบังคับใช้ซะอีก นี่ก็ทำให้เห็นว่า DTAC เดินในทิศทางที่ถูกแล้วจริงๆ

ถ้าหากยังไม่เห็นภาพล่ะก็ เอาเป็นว่าในระหว่างช่วงเปลี่ยนจากไตรมาสที่ 1 มาไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ DTAC มีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้งานเครือข่ายที่มากขึ้นอีก 0.7% นั่นหมายความว่ามีบางค่ายที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานที่ลดลง แต่สถิตินี้ไม่ได้หมายความว่าค่ายอื่นมีผู้ใช้งานลดลงนะครับ แต่หมายถึงด้วยจำนวนผู้ใช้งานใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนผู้ใช้งานเครือข่ายของ DTAC ในตลาดเพิ่มขึ้นนั่นเอง

เกี่ยวกับโครงข่ายของ DTAC Trinet

หลายคนคงสงสัยใช่มั้ยล่ะครับว่า ทำไม DTAC ถึงต้องเรียกระบบของตัวเองว่า Trinet ด้วย แน่นอนครับว่า “Tri” ความหมายของมันก็ตรงตัว โดยแปลว่า “สาม” ส่วน “Net” ก็หมายถึง “อินเตอร์เน็ต” นั่นเอง เพราะฉะนั้นความหมายของชื่อ Trinet ก็เลยหมายถึงการนำเอาความถี่ของคลื่นโทรศัพท์มาให้บริการผู้ใช้งานอย่างเรา ภายใต้เบอร์โทรศัพท์เบอร์เดียวนั่นเอง โดยความถี่ที่ใช้นั้นมีทั้ง 850MHz 1800MHz และ 2100 MHz ที่ทำงานร่วมกันครับ

แน่นอนครับว่าทั้ง 3 ความถี่นี้จะต้องมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว และทาง DTAC เองก็ได้อธิบายเอาไว้ในหน้า FAQ ของทาง DTAC เองอยู่แล้วครับ ผมจึงขออนุญาตยกข้อแตกต่างของทั้ง 3 ความถี่ที่ DTAC อธิบายไว้ ลงมาให้เพื่อนๆ อ่านกันในนี้เลยละกันครับ

คลื่นความถี่ 1800MHz คือ คลื่นพื้นฐานสำหรับการใช้งานการโทร-รับสาย (voice) ครอบคลุมทั่วประเทศ โทรติดง่าย คมชัดทุกพื้นที่

คลื่นความถี่ 850MHz รองรับการใช้ 3G ทะลุทะลวงและแผ่รัศมีได้ไกลกว่า เพิ่มความหนาแน่นของสัญญาณภายในตัวอาคารและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล

คลื่นความถี่ 2100MHz คือ คลื่นความถี่ใหม่ที่ดีแทคได้รับจากการประมูลของ กสทช. ซึ่งคลื่นมาตรฐานสากลที่รองรับบริการ 3G ดีแทคมีถึง 3 ช่องสัญญาณ ทำให้มีขนาดใหญ่กว่า กว้างกว่า มีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต (data) โดยเฉพาะ

ทีนี้ล่ะ ในเมื่อความถี่แต่ละตัวมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน สำหรับเพื่อนๆ ที่พอเข้าใจเรื่องไอทีบ้างคงจะพอทราบกันใช่มั้ยล่ะครับว่าการจะย้ายสลับจากการเชื่อมต่อความถี่หนึ่งไปยังอีกความถี่หนึ่ง แสดงว่าแบบนี้ DTAC Trinet ที่มีถึง 3 ความถี่ย่อมไม่มีทางที่มันจะสามารถเชื่อมกับความถี่ต่อได้ทีเดียวพร้อมกันทั้งหมดได้แน่ แล้วแบบนี้มันจะทำงานร่วมกันอย่างไรล่ะ ผมขออธิบายแบบง่ายๆ เลยละกันครับ

dtactrinet2

หลักการทำงานของ Trinet ก็คือ เมื่อเราเชื่อมต่อสัญญาณจากเครื่อง Smartphone เข้าสู่เสาโทรศัพท์ โดยปกติเราจะต้องถูกเชื่อมต่อเข้ากับสัญญาณ 3G 2100 MHz ที่มีความสำคัญสูงสุดก่อนครับ จากนั้นเมื่อเรามีการเคลื่อนไหวไปอยู่ในจุดที่ขาดการเชื่อมต่อกับสัญญาณความถี่นี้ เครื่อง Smartphone ก็จะทำการค้นหาสัญญาณใหม่ และสามารถสลับเปลี่ยนไปใช้สัญญาณความถี่อื่นแทนได้ในทันที โดยที่ไม่มีการส่งผลกระทบอะไรกับการใช้งานของเรามากนักครับ (ปกติการเปลี่ยนการจับสัญญาณไปที่เสาต้นใหม่นั้นจะเรียกว่าการ Roaming ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการที่ตัวเครื่องโทรศัพท์ของเราทำงานเองหลังบ้าน เราจึงไม่ต้องยุ่งอะไรกับเครื่องอยู่แล้วครับ แต่หากสังเกตดูง่ายๆ ว่าเครื่องเรามีการ Roaming ตอนไหน ก็ลองสังเกตดูตอนที่เราเดินทางอยู่ แล้วจะมีจังหวะหนึ่งที่จากจังหวะที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ค่อยจะมี แต่จู่ๆ สัญญาณก็พุ่งขึ้นมาเกือบเต็มนั่นเองครับ นี่แหละคือจังหวะที่โทรศัพท์มีการย้ายการจับสัญญาณไปที่เสาต้นใหม่นั่นเอง) และจากคุณสมบัติของคลื่นความถี่ต่างๆ ก็จะทำให้เราพอทราบกันแล้วใช่มั้บล่ะครับว่าคลื่นความถี่ 2100 MHz นั้น มีพื้นที่บริเวณรัศมีของการกระจายสัญญาณแคบกว่าคลื่น 850 MHz นั่นจึงทำให้ในบางจุดที่คลื่น 2100 MHz เข้าไม่ถึง เราสามารถสลับไปใช้คลื่นความถี่ 850 MHz แทนได้นั่นเอง

จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของ Trinet ก็คือจำนวนช่องสัญญาณครับ เพราะว่า DTAC สามารถสลับให้เราใช้ช่องสัญญาณในคลื่นความถี่ได้ทั้ง 3 คลื่น นั่นหมายความว่าในกรณีที่คลื่นความถี่คลื่นใดคลื่นหนึ่งมีคู่สัญญาณเต็ม เราก็สามารถจะสลับไปใช้คลื่นความถี่อื่นได้ในทันที ในเมื่อเรามี 3 คลื่นความถี่ นั่นก็หมายความว่าเราจะมีช่องสำหรับคู่สัญญาณสำหรับ 3 คลื่นไว้ใช้เลยทีเดียวครับ ในขณะที่ระบบของเจ้าอื่นจะได้ใช้แค่ช่องสัญญาณคลื่นของความถี่ 2100 MHz เท่านั้นครับ

เหตุผลที่ DTAC เป็นเจ้าเดียวในไทยที่ทำโครงข่ายแบบ Trinet

จากข้อที่ผ่านมา เราคงจะทราบกันแล้วใช่มั้ยล่ะครับว่า Trinet นั้นมีข้อดีค่อนข้างมากเลยทีเดียว แต่ทำไม DTAC ถึงเป็นเจ้าเดียวที่มีการวางระบบแบบนี้ล่ะ นั่นแหละคือประเด็นสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดนี้เลยล่ะครับ

เพื่อนๆ รู้กันหรือไม่ครับว่าในการเปิดให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ ปกติบริษัทจะต้องทำการขอสัมปทานในการให้บริการในส่วนนี้จากรัฐบาลกันด้วย สังเกตง่ายๆ ก็อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างการประมูลคลื่น 3G ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และมีความล่าช้าจนทำให้เราได้ใช้ 3G ตัวจริงได้ช้าอย่างทุกวันนี้นั่นแหละครับ สิ่งที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ในตอนนี้ก็คือในการขอสัมปทานนั้น ปกติเราไม่ได้ขอครั้งเดียว แล้วได้สิทธิในการถือครองคลื่นความถี่นั้นตลอดไปนะครับ แต่สัมปทานที่ได้มานั้นจะมีอายุของมัน ซึ่งอายุก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่แต่ละบริษัทร้องขอไปนั่นเอง (ซึ่งแน่นอนว่ามันจะต้องมีการจ่ายค่าสัมปทานเพื่อสิทธิในการถือครองด้วยอยู่แล้วครับ)

AIS และ True Move นั้น เสียเปรียบ DTAC อยู่ที่ตรงอายุสัมปทานในการถือครองคลื่นโทรศัพท์ของพวกเค้านั้นใกล้จะหมดแล้ว หรือพูดตามตรงก็คืออายุสัมปทานในการครอบครองคลื่นโทรศัพท์ความถี่ 1800 MHz ของทั้ง 2 เจ้านี้ เหลืออยู่ประมาณเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้นเองครับ การจะลงทุนวางระบบเพื่อที่จะนำมาใช้กับคลื่นความถี่ที่เหลืออายุของสิทธิในการใช้งานเพียงแค่  2-3 ปีนั้น จึงเป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่าการลงทุนสุดๆ เลยล่ะครับ นี่แหละจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้ง 2 เครือข่ายตัวนี้จึงเร่งทำ 3G ความถี่ 2100 MHz ออกมาเปิดตัวก่อนใคร มันเป็นเพราะสัมปทานตัวเก่าของทั้งคู่ใกล้หมดแล้วนั่นเอง

แล้ว DTAC ล่ะ ทำไมจึงสามารถวางโครงข่ายแบบ TriNet ได้ พูดกันตามตรง นั่นก็เป็นเพราะว่าสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ของ DTAC นั้นเหลืออยู่ร่วม 5 ปีเลยทีเดียว และการวางเสาโครงข่าย 3G ความถี่ 850 MHz ของ DTAC นั้น ก็ได้เลือกใช้เสาที่มีเทคโนโลยีใหม่ซึ่งรองรับการทำงานของระบบ Trinet อยู่แล้ว นี่จึงทำให้การวางระบบโครงข่ายทั้งหมดสะดวกขึ้นเยอะมากเลยทีเดียวครับ สรุปคือเป็นเพราะว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุน DTAC จึงทำนั่นแหละครับ และถ้า DTAC ทำระบบทั้งหมดได้สำเร็จล่ะก็ น่าจะช่วยทำให้เรื่องของผลตอบรับในเรื่องประสบการณ์การใช้งาน 3G ของ DTAC จะดีขึ้นอีกหลายเท่าตัวเลยครับ

สรุปก็คือการทำ Trinet นั้น ปกติไม่ได้ทำกันง่ายๆ เลยครับ นอกจากต้องมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์แล้ว ก็ยังต้องมีความพร้อมในส่วนของบุคคลากรที่ต้องเชี่ยวชาญพอตัวอีกจึงจะสามารถทำได้

ปัญหาเครื่องกินแบตมากขึ้น จากการใช้ DTAC Trinet

เนื่องจากเป็นเพราะว่า DTAC Trinet นั้นอาศัยวิธีการจับสัญญาณใหม่สลับไปมาระวังคลื่นความถี่ 3 คลื่น การค้นหาสัญญาณบ่อยๆ นี่แหละครับ คือตัวการที่ทำให้เครื่อง Smartphone ของเรากินแบตพอตัวเลย ซึ่งปัญหานี้ทาง DTAC เองก็ได้ชี้แจงว่าจะพบปัญหานี้ในช่วงแรกๆ ที่มีการเปิดให้บริการ DTAC Trinet แล้วเท่านั้นครับ แต่ภายหลังที่ DTAC ได้ทำการติดตั้งและปรับแต่งระบบทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ปัญหานี้ก็จะน้อยลงอย่างแน่นอน เพราะความจำเป็นในการต้องไปจับสัญญาณใหม่ จะเหลือน้อยมากเลย (ปัจจุบันเสาร์ 3G  ของ DTAC วางไปแล้วร่วม 8,200 ต้น โดยแบ่งเป็น 3G 850MHz 5,200 ต้น และ 3G 2100 MHz 3,000 ต้น)

ทำไมลงทะเบียน DTAC Trinet ไปแล้ว จึงไม่ได้ย้ายไปใช้ซักที

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า DTAC Trinet นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัท DTAC เดิมโดยตรง แต่เป็นสินค้าหนึ่งที่อยู่ภายใต้บริษัทใหม่ที่ชื่อว่า DTN (ก็ DTAC Trinet นั่นแหละ) นั่นหมายความว่าการที่จะย้ายเราเข้าไปใช้ DTAC Trinet นั้น ก็เหมือนกับการย้ายค่ายข้ามไปอีกค่ายหนึ่งเลยนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายนั้น ตอนนี้เค้ามีโควต้าให้ลูกค้าสามารถย้ายค่ายข้ามเครือข่ายต่อบริษัทวันละ 60,000 รายเท่านั้นเอง แต่ลูกค้าที่แจ้งขอย้ายไปใช้ DTAC Trinet ในตอนนี้นั้นกลับมีมากถึง 3.5 ล้านรายเลยทีเดียว และจากวันแรกที่มีการเปิดให้บริการ DTAC Trinet จนถึงวันที่ผมได้ไปคุยกับทาง DTAC นั้น  ในตอนนั้นก็มีลูกค้าอยู่ในระบบร่วม 4 แสนรายแล้วครับ

แล้วการจัดคิวของ DTAC ทำอย่างไร ทาง DTAC ได้ชี้แจงว่าคิวจะถูกจัดตามลำดับวันเวลาที่มีการร้องขอผ่านทางกดรหัสที่ DTAC แจ้งไว้สำหรับใช้ในการขอเปลี่ยนเป็น DTAC Trinet นั่นองครับ แต่หลังจากที่มีคนทักท้วงว่าทำไมบางคนกดหรัสทีหลังแต่กลับได้ใช้ DTAC Trinet ก่อนด้วย เรื่องนี้ทาง DTAC ได้ตอบกลับว่าอาจจะเป็นเพราะความผิดพลาดของระบบ ซึ่งทางลูกค้าเองสามารถโทรไปสอบถามเรื่องนี้ที่ DTAC Call Center ได้ครับ

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อัพเกรตเป็น DTAC Trinet ทาง DTAC ตอนนี้กำลังทำหน้าเว็บสำหรับใช้ดูวันเวลาที่เรามีสิทธิจะได้ใช้ DTAC Trinet ออกมาให้บริการในเร็วๆ นี้แล้วครับ ทีนี้เราก็จะได้รู้กันจริงๆ ซักทีแล้วล่ะ ว่าเราจะได้อัพเกรตเมื่อไหร่กันแน่

ปัญหาการตัดเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตเมื่อใช้ DTAC Trinet 

ปัญหานี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทาง DTAC ได้แจ้งเอาไว้ ว่าหากมีใครเคยแจ้งการตัดยอดค่าใช้งานผ่านบัตรเครดิตอยู่ล่ะก็ เมื่อเราย้ายมาใช้ DTAC Trinet บริการในส่วนนั้นก็จะถูกยกเลิกไป ทำให้เราอาจต้องลำบากกันนิดนึงตรงที่เราต้องไปชำระเงินกันเองไปก่อนตาม Counter Service หรือจะเลือกชำระผ่านธนาคารออนไลน์แทนก่อนก็ได้ครับ สาเหตุที่เกิดปัญหานี้ก็เพราะสาเหตุเดียวกับการก่อตั้งบริษัทใหม่นั่นแหละครับ การเปิดบริษัทใหม่ นั่นก็หมายความว่าเราจะต้องทำสัญญากับทางคู่ค้าใหม่ด้วย ตอนนี้ทาง DTAC Trinet นั้นเปรียบเสมือนเป็นบริษัทที่เกิดใหม่เลยทีเดียว และคู่ค้าของ DTAC ระบบเดิมก็ไม่ได้มีสัญญาที่ครอบคลุมไปถึง DTAC Trinet ตัวใหม่อยู่แล้ว จึงต้องทำให้อาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยกว่าสัญญาทุกอย่างจะเรียบร้อย ระบบตัดผ่านบัตรเครดิตจึงจะพร้อมใช้งานอีกครั้ง ส่วนระบบนี้จะใช้งานได้เมื่อไหร่นั้น ตามที่ DTAC แจ้งมาก็น่าจะประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือว่าเร็วกว่านั้นนั่นเองครับ

dtactrinet3

DTAC Trinet มีปัญหาเรื่อง International Roaming เหมือนกับเครือข่ายอื่นมั้ย

หากใครใช้อินเตอร์เน็ตของเครือข่ายอื่น ก็พอจะรู้กันใช่มั้ยล่ะครับว่าในตอนนี้นั่นทั้ง True Move และ AIS ล้วนแต่มีปัญหาเรื่องการทำ Data Roaming หรือการเปิดบริการเชื่อมต่อสัญญาณ Internet สำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่นั่นเองครับ ปัญหานี้ก็เหมือนกันกับปัญหาเรื่องบัตรเครดิตของ DTAC คือทาง  AIS และ True Move ต่างก็เปิดบริษัทใหม่ของตัวเองเพื่อรองรับการใช้งานเครือข่าย 3G 2100MHz เหมือนกัน ทำให้ทุกบริษัทต้องไปทำสัญญากับเครือข่ายคู่ค้าของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งตามที่ผมทราบมา การเจรจาเรื่อง Data Roaming นั้นอาจจะต้องใช้เวลาอย่างช้าที่สุดกว่า 2 ปีเลยทีเดียว กว่าที่ระบบทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางได้ และพร้อมเปิดให้บริการจริง

แต่สำหรับ DTAC Trinet พวกเค้าไม่ได้มีปัญหานี้ครับ เนื่องจากว่าระบบ DTAC Trinet ยังทำงานอยู่บนคลื่นสัญญาณ 850 MHz และ 1800 MHz ได้อยู่ นั่นหมายความว่าผลของเครือข่ายคู่สัญญายังคงมีผลกับ DTAC Trinet อยู่นั่นเองครับ แต่เวลาที่เราต้องการจะเดินทางไปต่างประเทศนั้น เราจะต้องไปขอเปลี่ยนไปใช้ซิมตัวพิเศษอีกตัวหนึ่งของ DTAC Trinet ที่ศูนย์บริการก่อนด้วยนะครับ จึงจะสามารถใช้ริการ Internet Roaming ของต่างประเทศได้

DTAC บอกว่าเครื่อง Smartphone และ Tablet ที่รองรับ 3G คลื่นความถี่ 850 MHz จะมีขายในไทยมากขึ้น

แต่เดิมทีเครื่อง Smartphone หรือ Tablet ในไทยจะถูกแยกเป็นเครื่องที่รองรับ 3G ความถี่ 850 MHz และ 900 MHz อยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าเครือข่ายโทรศัพท์ทั่วโลกส่วนใหญ่กลับเลือกใช้คลื่นความถี่ 900 MHz มากกว่า ด้วยเหตุนี้เองบริษัทโทรศัพท์ทั้งหลายจึงเลือกที่จะนำเครื่องที่รองรับ 3G 900 MHz เข้ามาขายมากกว่านั่นเอง

แต่ทว่าต่อจากนี้ไปทาง AIS จะไม่ทำ 3G ที่คลื่นความถี่ 900 MHz แล้ว นั่นก็หมายความว่าจะไม่มีค่ายสัญญาณโทรศัพท์ค่าไหนอีกที่ใช้ 3G คลื่นความถี่นี้ จึงเป็นโอกาสที่แบรนด์จะนำเอาเครื่อง Smartphone หรือ Tablet ที่รองรับ 3G ความถี่ 850 MHz เข้ามามากขึ้นอีก เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับตัวแบรนด์นั่นเองครับ

dtactrinet4

อยากปรึกษาเรื่อง DTAC Trinet ปรึกษายัไงได้บ้าง

สำหรับเรื่องการปรึกษานั้น ตอนนี้ DTAC ได้เพิ่มในส่วนของ FAQ หรือส่วนของการถามตอบปัญหาบนหน้าเว็บของ DTAC ให้เราลองอ่านกันแล้วครับ โดยหากใครสงสัยในเรื่องไหน ก็สามารถกดเข้าไปดูที่ Link หน้าเว็บของ DTAC และสังเกตดูที่แถบเครื่องมือด้านขวาในหน้าเว็บ ในช่องของ FAQ และหาข้อมูลหรือข้อสงสัยจากในส่วนนี้ได้เลยครับ

http://www.dtac.co.th/

หรือหากใครอยากสอบถามเรื่องต่างๆ จริงๆ และหาข้อมูลในหน้า FAQ ไม่เจอ เราก็สามารถติดต่อไปยังทาง DTAC Online Call Center ได้เลยครับ แทนที่จะเอาแต่ด่า DTAC ไปเรื่อยเมื่อมีปัญหา แต่ลองปรึกษาถึงปัญหานี้กับทีมของ DTAC ดูได้ครับ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ลองปรึกษากับทีม DTAC กันได้ครับ หรือหากใครอยากสอบถามอะไรเพิ่มเติมในตอนนี้ก็ลองโพสต์ถาม หรือแสดงความคิดเห็นในหน้านี้กันได้เลยครับ ถ้าอันไหนผมตอบได้ก็จะช่วยตอบให้เอง แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็ลองไปสอบถามทาง DTAC กันได้เลยครับ