Lazada

Review: Galaxy S4 สมาร์ทโฟนที่สมบูรณ์แบบที่สุดของตระกูล Galaxy

IMG_6556

เก่าไปใหม่มา สัจธรรมนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ และยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวงการสมาร์ทโฟนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพของคำดังกล่าวนี้ชัดขึ้น

ปีที่แล้วซัมซุงเปิดตัว Galaxy S3 อย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ปีนี้ด้วยยุทธศาสตร์ที่ต้องการเป็นเจ้าตลาดธุรกิจสมาร์ทโฟนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การย่างกรายไปยังตลาดแม่ของทุกๆ ธุรกิจบนโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า ซัมซุงกำลังต้องการชิงความเป็นใหญ่

ราคา Galaxy S4

ที่สหรัฐอเมริกา มหานครนิวยอร์กแห่งนั้นเอง การเปิดตัว Galaxy S4 ได้เริ่มต้นขึ้นที่นั่น อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงแบรนด์ทุกแบรนด์บนโลกใบนี้ด้วยว่า ตลาดสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ได้ถือฤกษ์เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยวางขายในไทยเป็นที่เรียบร้อย ที่ราคา Galaxy S4 คือ 21,900 บาท

IMG_6577

แรกสัมผัส

ระยะทางจากซีกโลกหนึ่งทางฝั่งอเมริกาเหนือมายังอีกซีกโลกหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางของ Galaxy S4 ถือเป็นการเดินทางไกลที่ใช้เวลาไม่นานมากนักก็ถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งปลายทางสุดท้ายที่ว่า นั่นก็คือ ในมือของผู้เขียน

ย้อนความเดิม เมื่อครั้งที่ Galaxy S3 เป็นสมาร์ทโฟนที่ใหม่ที่สุดของซัมซุง เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากแบรนด์ธรรมดาๆ สู่ภาพลักษณ์ใหม่ การปรับปรุงหน้าตาของตัวเครื่อง อินเตอร์เฟสภายใน ลูกเล่นสารพัดสารเพ อีกทั้งยังหยิบประเด็นเรื่องของ ‘ฟีเจอร์’ นำหน้า ‘สเปก’ ที่ ณ เวลานั้นใครๆ ต่างมักชูเรื่องนี้มาเป็นจุดเด่น

จากเวลานั้น ถึงเวลานี้ Galaxy S3 ค่อยๆ ตกจากระดับสูงสุด และถูกแทนที่ด้วย Galaxy S4 ซึ่งความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับ ‘ของใหม่’ ต้องบอกว่า Galaxy S4 มันคือ Galaxy S3 เวอร์ชันที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ในความสมบูรณ์ที่ว่า กลับมาพร้อมกับหน้าตาที่เหมือนเดิม มีเพียงบางจุดที่ถูกแก้ไข

ตัวเครื่องของ S4 แม้ว่าจะมีขนาดหน้าจอที่ใหญ่กว่า S3 แต่แทนที่ตัวเครื่องจะนำมาความลำบากมาสู่ผู้ใช้ด้วยขนาดที่เทอะทะ ไม่ใช่เลยตรงกันข้าม Galaxy S4 กลับให้อารมณ์และความรู้สึกที่ดีเมื่อผู้ใช้ได้สัมผัสถึงตัวเครื่อง รอบนอกทุกมิติออกแบบมาให้กระชับ เหมาะมือกับผู้ใช้ทุกครั้งที่ใช้งาน ตัวเครื่องยังเน้นไปที่ความบาง และความเบา เพื่อตอบโจทย์รูปแบบชีวิตที่เป็นโมบิลิตีเข้าไปทุกขณะ

การออกแบบ

จะว่าด้วยแรงบันดาลใจ จะว่าด้วยเรื่องของความสำเร็จ หรือจะว่าด้วยรูปลักษณ์ที่ใครหลายคนชอบ แต่มันก็คือ Galaxy S4 ที่คงเอกลักษณ์เดิมจากรุ่นเก่าไว้อย่างเหนียวแน่นจนเหมือนสภาพอากาศที่เป็นอยู่ในขณะนี้

6

ด้านหน้า – ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นแท่ง ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ขอบจอที่เห็นในบริเวณสีดำๆ ค่อนข้างแคบ นั่นคือข้อดีที่ทำให้การใช้งานหน้าจอเครื่องมีมากขึ้น กล้องหน้าถูกเพิ่มด้วยความละเอียดที่มากขึ้นอยู่ที่ 2 ล้านพิกเซล ระบบเซ็นเซอร์มีมากกว่า Proximity และ Gyro โดยมี Gesture Sensor เพิ่มขึ้นมาสำหรับรองรับการใช้งานความสามารถใหม่ด้วยการจับการเคลืิ่อนไหวของมือ ขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว และการเสริมแกร่งด้วยกระจกกันรอย Gorilla Glass 3 แต่ความแข็งแกร่งของมันนั้น ควรถูกฝากฝังไว้กับฟิล์มกันรอยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

และด้านล่างมีปุ่ม Home อันเป็นเอกลักษณ์ ขนาบข้างด้วยปุ่ม Menu ทางด้านซ้าย และปุ่ม Back ทางด้านขวา

2

ด้านซ้าย – ปุ่มเพิ่มลดเสียง ซึ่งจะขยับระดับสูงขึ้นจาก S3 เล็กน้อย

1

ด้านขวา – มีปุ่ม Power/Lock ของเครื่อง

3

ด้านบน – หูฟังขนาดมาตรฐาน ไมโครโฟน

5

ด้านล่าง – พอร์ทสำหรับเชื่อมต่อกับไมโครยูเอสบี และไมโครโฟนหลัก

7

ด้านหลัง – เป็นจุดขายสำคัญของ Galaxy S4 ที่ใช้กล้องที่มีความละเอียดสูง 13 ล้านพิกเซล วางตำแหน่งที่โดดเด่นด้านบนสุด ตามมาด้วยแฟลช และมีโลโก้ของ Samsung สลักเด่นอยู่ตรงกลาง เมื่อมองลงไปด้านล่างสุดจะเป็นพื้นที่ในตำแหน่งของลำโพง

8

สเปกเครื่อง

การพัฒนาที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 1-2 ปี ในเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ ทำให้คำถามยอดฮิตว่า รุ่นนี้จะสามารถใช้งานแอปพลิเคชันใดไม่ได้บ้าง แอปเกมตัวนี้ล่ะเล่นได้รึเปล่า ในเมื่อ Galaxy S4 ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ทั้งจากฝั่งซัมซุงเอง และจากฝั่งแอนดรอยด์ด้วย ทุกๆ อย่างที่ผู้บริโภคต้องการสามารถทำได้

แต่ด้วยการที่เทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์พุ่งเร็วจนเกินไป มองกลับกันในส่วนของแบตเตอรีกลับเข้าสู่จุดหยุดนิ่ง จนมีคำกล่าวที่เสียดสีได้อย่างน่าสนใจว่า I have a smartphone with a dumb battery.

นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนา Exynos Octa 5 ที่มีชิปประมวลผลควอดคอร์ฝังตัวอยู่ถึง 2 ตัวด้วยกัน นั่นคือ ARM-Cortex A7 และ ARM-Cortex A15 ด้วยจุดประสงค์ที่ว่า ในเมื่อแบตเตอรีมันพัฒนาไปไกลกว่านี้ไม่ได้สักที การลดพลังงานในการประมวลผลจึงเป็นสมติฐานที่ต้องหยิบยกมาใช้แทน Cortex A7 จะมีหน้าที่หลักในการประมวลผลทรัพยากรที่ไม่ใช้งานที่หนักหน่วงมากนัก และจะตรงกันข้าม Cortex A15 ที่มีมาเพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องการพลังการประมวลผลสูง

แต่ด้วยขณะที่ทดสอบตัวเครื่องอยู่นั้น Firmware ของ Galaxy S4 ยังไม่อยู่ในจุดที่เรียกว่า สมบูรณ์ ดังนั้นการใช้งานหลายๆ อย่างก็ยังอยู่ในวังวนของคำกล่าวเสียดสีนั้นเหมือนอย่างเคย

9

ด้านสเปกอื่นๆ ของ Galaxy S4 ที่น่าสนใจ

  • หน้าจอขนาด 5 นิ้ว แบบ Super AMOLED ความละเอียดที่ 1920×1080 พิกเซล (441ppi)
  • GPU PowerVR SGX 544MP3
  • RAM/ROM อยู่ที่ 2GB/16GB ตามลำดับ
  • แบตเตอรี 2600 mAH
  • 3G รองรับทุกคลื่น
  • ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2.2 Jelly Bean

ฟีเจอร์และความสามารถ

เมื่อธุรกิจสมาร์ทโฟนถูกผลักดันด้วยความสามารถของฟีเจอร์ ทุกแบรนด์ล้วนสร้าง ‘ฟีเจอร์’ ขึ้นมาชูเป็นจุดเด่น แต่ต้องยอมรับในจุดหนึ่งที่ว่า ถ้าฟีเจอร์ที่ถูกชูขึ้นมานั้น ไม่สามารถใช้งานได้ในความเป็นจริง บางทีคำถามอาจถูกย้อนกลับมาว่า มีไปเพื่ออะไร ?

SS1

ก่อนอื่นขอพูดถึง Lockscreen ก่อน ซึ่งถือได้ว่า เป็นประตูด่านแรกของสมาร์ทโฟนก็คงไม่ผิดหนัก ซัมซุงเลือกใช้คำพูดพิเศษของรุ่นนี้ว่า Life Companion (แปลเป็นไทยว่า คู่ชีวิต) กล่าวโดยความนัยว่า ซัมซุงต้องการเห็น Galaxy S4 เปรียบเสมือนเป็นคู่ชีวิตประจำตัวของผู้ใช้  จึงทำให้โทนสีของภาพจะเน้นความรู้สึกที่สบายๆ ให้บรรยากาศที่ล่องลอย โดยตรง Lockscreen นี้จะมีลูกเล่นให้ปรับแต่งฟอนต์ สี และคำพูดได้

SS6

เมื่อผ่านพ้นประตูแรกไปแล้ว สิ่งที่จะต้องเจอต่อมาคือ Homescreen เฉดสีโดยภาพรวมค่อนข้างดูสบายตาขึ้นเรื่อยๆ สามารถเพิ่มหน้า Homescreen ได้ตามต้องการ

SS2

และเมื่อกดเข้าไปสู่หน้าของ App Drawer ที่อยู่ด้านล่าง ภายในจะมีการแบ่งหมวดหมู่เอาไว้ชัดว่า ตรงนี้คือแอปพลิเคชันทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่อง ตรงนี้กลางเป็นส่วนของวิดเจ็ต และทางขวาสุดจะเป็นแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดมา

SS12

ในแง่ของการจัดการะบบเครื่อง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการใช้สมาร์ทโฟนอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ ตรง App Switcher ซัมซุงทำออกมาได้ค่อนข้างดี เรียบง่าย มีให้เคลียร์ RAM จัดการ Storage หรือ uninstall app ที่ไม่ได้ใช้

Multi-Window

SS11

สิ่งที่ต้องการจากฟีเจอร์นี้ มีเพียสิ่งเดียว คือ อยากให้ผู้ใช้สามารถอิมพอร์ทได้เองว่า ต้องการให้แอปพลิเคชันใดอยู่ตรง Sidebar ได้บ้าง แต่ในเมื่อมันยังทำเช่นที่ต้องการไม่ได้ ก็จะเป็นได้อย่างที่เห็น ผู้ใช้สามารถดูแอปพลิเคชันพร้อมกันได้ 2 หน้าจอ รองรับทั้งการใช้งานแนวตั้งและแนวนอน

Gesture และ Sensors

ก่อนหน้าที่จะมาเป็น Galaxy S4 ซัมซุงเคยเลือกใช้เรื่องของ Gesture และ Sensor ชูเป็นปฟีเจอร์เด่นของรุ่นเรือธงอย่าง Galaxy S3 และ Galaxy Note II มาก่อน และแน่นอนผลท้ายที่สุดก็เป็นเหมือนที่ผู้บริโภคคิด หลายคนไม่ได้ใช้ ไม่ได้แตะฟีเจอร์ดังกล่าวเลย แต่ใน Galaxy S4 พัฒนาขึ้นแต่ก่อนไหม ? ก็พอสมควร

หลักการทำงานของ Gesture จะจับจากเซ็นเซอร์ที่อยู่บนหน้าจอ โดยดูการเคลื่อนไหวว่า มีอะไรมาอยู่หน้าเซ็นเซอร์นั้นหรือไม่ หลักๆ แล้วจะมี

SS16

  • Air Browse ใช้สำหรับในการเลื่อนดูรูปภาพจากใน Gallery โดยไม่ต้องใช้นิ้วปาดซ้ายหรือปาดขวา หรือจะใช้ในเรื่องของการฟังเพลงก็ได้
  • Air Jump จะใช้งานได้ผ่าน 2 แอปพลิเคชันหลักนั่นคือ Web Browser และ Email โดยมันจะเลื่อนขึ้น-ลงตามมือของผู้ใช้
  • Air Call-accept ถ้าไม่อยากใช้นิ้วรับโทรศัพท์ ลองใช้มือปาดผ่านหน้าเซ็นเซอร์แทนก็จะสามารถรับโทรศัพท์ได้

Smartscreen

SS9

  • Smart Scroll ฟีเจอร์นี้ ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จะเคลื่อนไหวโดยมีกล้องหน้าจับที่ลูกนัยน์ตาของผู้ใช้ แต่ตอนหลังก็มีการประกาศจากซัมซุงแล้วว่า มันจะขยับตามตำแหน่งของดวงตาเท่านั้น โดยเซ็นเซอร์จะคำนวณว่า ตอนนี้ดวงตาอยู่ตรงที่จุดไหน แล้วถึงจะ Scroll ตาม
  • Smart Pause เป็นฟีเจอร์อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ใช้งานได้จริง ด้วยธรรมชาติของการดูคลิป หรือการดูหนังสมาร์ทโฟน หลายๆ ครั้งมักถูกสิ่งรอบข้างรบกวน จนต้องละจากหน้าจอ จนท้ายที่สุดต้องเลื่อนกลับไปดูที่จุดเดิมอีกครั้ง Smart Pause จะหยุดการเล่นทันทีที่ผู้ใช้ไม่ได้มองที่หน้าจอ
  • Screen Rotation เป็นฟีเจอร์แรกที่ผู้เขียนปิดมันทันทีในหมวด Toggle ด้วยความที่มันใช้งานได้ไม่สะดวกเอาซะเลย บางครั้งเราต้องการจะใช้งานในแนวตั้ง แต่ Screen Rotation จะเปลี่ยนมุมให้อยู่แนวนอนเอง แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการปิดมันซะ

แล้วประโยชน์ของ Gesture กับ Smartscreen ที่ว่านี้คืออะไร ?

ฟีเจอร์หลายอันแทบไม่มีประโยชน์ และใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ได้ แม้ว่าตัว Gesture จะมีข้อดีในยามที่มือทั้ง 2 ข้างของผู้ใช้เลอะและสกปรก แต่ถ้ามองตาม Common Sense แล้ว คงไม่มีผู้ใช้คนใดที่จะจับมือถือของตัวเองทั้งๆ ที่มือยังเลอะอยู่ อย่างน้อยๆ ต้องล้าง ต้องเช็ดมาแล้วบ้าง ส่วน Smartscreen ยังดีหน่อยตรงที่มันมาจากแนวคิดของการใช้งานที่มนุษย์เจอมาจริงๆ

คราวนี้คงถึงคราวที่ผู้ใข้งานเครื่องต้องคิดแล้วล่ะว่า ฟีเจอร์ที่ให้มาทั้งหมดนี้ ควรจะมีไว้เผื่อเหลือ-เผื่อขาด หรือจะมีไว้แบบที่ใช้งานได้จริงๆ พอดีๆ อย่างไหนจะดีกว่า ?

S Translator

Screenshot_2013-04-18-01-20-55

แม้ว่าจะใช้งานด้วยภาษาไทยไม่ได้ แต่ S Translator ถือเป็นฟีเจอร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดฟีเจอร์หนึ่ง เนื่องด้วยความฉลาดของระบบที่สามารถวิเคราะห์เสียงและสำเนียงของผู้พูดแล้วแปลออกมาเป็นภาษาที่ต้องการ

จากการทดสอบได้ลองพูดภาษาอิตาเลียนสำเนียงห่วยๆ เพื่อแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ ผลปรากฏว่า สามารถแปลได้ถูกต้องตรงความหมาย เพียงแต่ว่า เมื่อลองเป็นประโยคยาวๆ หรือเป็นทางการจริงๆ S Translator ยังคงไม่อาจช่วยเป็นล่ามส่วนตัวได้จริงๆ สักเท่าไหร่

S Health

SS18

ถ้าจะว่าไปแล้วในแอปพลิเคชันที่อยู่ใน PlayStore ก็จะมีแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ทั้งในเรื่องของการควบคุมอาหาร กำหนดปริมาณแคลอรี และการ Workout ต่างๆ โดยความเห็นส่วตัว S Health อาจยังเทียบชั้นในหลายๆ แอปในสโตร์ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ

Setting

SS5

มีการแบ่งหมวดของการปรับแต่งเครื่องตามหมวดหมู่ เป็น 4 หมวกหลัก ได้แก่ Connections, My Device, Accounts และ More

Music and Movies

ความบันเทิงมีอยู่รอบตัวเรา แค่การพกสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ก็สามารถทำทุกอย่างได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมผ่านแอปพลิเคชัน การพิมพ์อีเมล ท่องโลกอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การดูหนัง ฟังเพลงก็ยิ่งถือเป็นเรื่องที่ง่าย

SS14

ในความเห็นของคนที่ไม่ได้เป็นคนที่หูเทพ มองว่า ด้านการฟังเพลง Galaxy S4 ยังด้อยกว่า HTC One อยู่พอสมควร เสียงที่ให้ออกมาเป็นเสียงกลางๆ ค่อนไปทางต่ำ

อนึ่งขอย้อนความเมื่อครั้งที่ได้ทดสอบตัวเครื่อง Ativ S ที่เป็น Windows Phone 8 รู้สึกว่าเสียงจะดีกว่าตัว Galaxy S4 ซึ่งไม่แน่ใจว่า ใช้ชิปเสียงตัวเดียวกันรึเปล่า

SS17

ส่วนในแง่ของการดูหนังไม่มีปัญหากับการเล่นไฟล์วิดีโอ 1080p อาการกระตุกไม่มี ภาพคมชัด เสียงที่ออกจากลำโพงค่อนข้างดัง แต่โดยปกติผู้เขียนชอบที่จะดูหนังผ่านหูฟังมากกว่า ซึ่งถ้าหากระหว่างที่ดูหนังไปด้วย เกิดอยากใช้งานทวิตเตอร์ไปด้วย จุดนี้สามารถที่เลือกฟีเจอร์ Pop up play เพื่อการทำงานทั้ง 2 อย่างได้เช่นกัน

การถ่ายภาพ

สเน่ห์ของการใช้สมาร์ทโฟน นั่นคือ การถ่ายภาพ ถ้าสมาร์ทโฟนเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนเรา การถ่ายภาพ คือสิ่งแรกๆ ที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องทำ

อย่างที่บอกข้างต้น Galaxy S4 มาพร้อมทั้งกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล และกล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล ด้วยความที่ซัมซุงถือเป็นเจ้าในแง่ของการใส่ฟีเจอร์ต่างๆ นาๆ มากมายให้แก่สมาร์ทโฟน ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้เลยที่กล้องของ Galaxy S4 จะไม่มีฟีเจอร์เด็ดๆ

2013-04-18-01.01

โดยฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาใน Galaxy S4 นั่นก็คือ ฟีเจอร์ที่เรียกว่า Dual Camera ที่มันจะสามารถใช้งานกล้องทั้งกล้องหน้า และกล้องหลังได้ในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าถามว่า จะเอาไปใช้เวลาไหน ถ้าเป็นภาพนิ่งคงแทบไม่มีประโยชน์  แต่ทว่าถ้าเป็นในส่วนของวิดีโอ ถือว่าน่าสนใจ เพราะเป็นเสมือน Family Video ที่สามารถเห็นคนถ่าย คนถูกถ่ายได้ครบ

(ซ้าย)โหมด Normal (ขวา) Beauty  Face
(ซ้าย)โหมด Normal (ขวา) Beauty Face

Beauty Face: มีมาตั้งแต่รุ่น Galaxy Note II ซึ่งโดยรวมมันก็ทำให้ภาพดูเนียนๆ ขึ้น

BestPhotos

นอกจากนี้แล้วยังมีระบบให้เลือก Best Photo ด้วย

Screen Shot 2556-04-28 at 12.39.30 AM

Sound and Shot: เป็นการถ่ายภาพที่สามารถอัดเสียงลงไปได้อีก 9 วินาที ซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไปตรงที่ ภาพที่ถ่ายจาก Sound and Shot จะสามารถบอกได้ว่า ตอนที่ถ่ายนั้นมันเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง บรรยากาศตอนนั้นเป็นยังไง เสมือนประหนึ่งภาพกำลังพูดได้

Eraser

Screen Shot 2556-04-27 at 11.45.34 PM

Drama: กลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐานของการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ไปแล้ว ที่สามารถเก็บรายละเอียดของภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ เช่นเดียวกันกับ Eraser ที่สามารถลบวัตถุที่เราไม่ต้องการออกจากภาพได้

ตัวอย่าง Animation Shot

SS13

Animation Shot: มีพื้นฐานจากการใช้ภาพเคลื่อนไหวที่เป็นไฟล์ GIF ที่เห็นตามเว็บบอร์ด แต่ทว่าใน Animation Shot มีลูกเล่นที่ต่างกว่านั้น คือ สามารถเลือกจุดใดๆ ก็ได้จุดหนึ่งกำลังเคลื่อนไหว ส่วนที่เหลือกำลังหยุดนิ่ง

ทดสอบการถ่ายภาพต่างๆ ผ่าน Galaxy S4

Auto

Auto4

Auto2

Auto3

HDR

HDR

Night

NightMode

หากนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต้นปี 2013 ร่ายยาวมาถึงเวลานี้ Lumia 920, Ativ S, HTC One และ Galaxy S4 ทุกครั้งที่ได้ลองสัมผัสสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ทั้งหมดนี้ที่ว่านี้ การถ่ายภาพถือเป็นลำดับแรกๆ ที่ต้องทำ ในแง่มุมของการถ่ายภาพ ขอชมจากใจว่า Galaxy S4 ทำได้ขึ้นอย่างมาก คุณภาพที่ออกมาของภาพทำได้ดีเกินคาด ปัญหาการถูกจอของภาพหลอกลดลงไป ภาพที่ออกมาสีสด และถูกใจอย่างมาก เพียงแต่ว่า Galaxy S4 จะด้อยกว่า HTC One และ Lumia 920 ตรงที่ว่า ถ้าถ่ายภาพในเวลากลางคืน ที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ผลการทดสอบด้วย Benchmark 

SS19

SS15

แบตเตอรีอึดไหม ?

Battery

ก่อนที่จะได้รับเครื่องมาใช้งาน ทางซัมซุงได้บอกกับผู้เขียนว่า เครื่องทดสอบนี้ Firmware ยังไม่ใช่ตัวไฟนัลที่จะวางจำหน่าย ดังนั้นสิ่งที่พบเจอระหว่างการใช้งานนั้น อาจไม่พบเจอในขณะที่ตัวเครื่องวางจำหน่ายไปแล้ว

จากเท่าที่ใช้งานมา ไม่อึด ในเวลา 1 ชม. ได้ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี ในการอ่านข่าวจาก Google Current ทวีตบ้าง อัปเดทสเตตัสบนเฟซบุ๊ก แบตเตอรีลดลงฮวบถึง 30%

เมื่อใช้งานจิปาถะ ทั้งการเชื่อมต่อไวไฟ เชื่อมต่อผ่าน 3G เล่นแอปพลิเคชันเกมนิดๆ หน่อยๆ พูดคุยกับเพื่อนฝูงผ่าน Line แบตเตอรีคงทนอยู่ราวๆ 5-6 ชม. เท่านั้น

ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ไหม ?

หัวข้อนี้ นั่งคิดอยู่นานครับว่า จะเขียนลงในรีวิวด้วยดีไหม แต่ในเมื่อการรีวิวผลิตภัณฑ์ใดๆ สักชิ้นหนึ่ง มันก็เหมือนเรากำลังเขียนบทความ ที่เราสามารถใส่ความเห็นของตัวเองเข้าไปได้อย่าเต็มที่

ซึ่งจากที่ผมได้ลองใช้ Galaxy S4 ในช่วงขณะหนึ่งของเดือนเมษายน ผมยินดีที่จะบอกคุณตรงนี้เลยว่า ผมใช้ฟีเจอร์ และฟังก์ชันของ S4 ไม่ครบ

ไม่ครบที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ลองใช้งาน แต่หมายถึงว่า ในชีวิตวันหนึ่งๆ ผมแทบไม่ได้สัมผัสถึงฟีเจอร์ดังกล่าว โดยในฟีเจอร์หลักที่ได้ใช้จริงๆ หลักๆ จะมีแค่ Smartscreen, Smart Pause และฟีเจอร์การถ่ายภาพ เช่น Eraser, Best Face

ข้อดีและข้อเสีย

แน่นอนว่า สมาร์ทโฟนรุ่นหนึ่งๆ เป็นไปไม่ได้เสียหรอกที่รุ่นนั้น จะมีแต่ข้อดี ไร้ซึ่งข้อเสีย Galaxy S4 เป็นอีกรุ่นที่หนีความจริงดังกล่าวไม่ได้ ข้อดีที่ผมพบมาโดยตรงของรุ่นนี้ มีค่อนข้างเยอะครับ

ข้อดี

  • Performance ของเครื่องสูง รองรับการใช้งานทุกประเภท
  • คุณภาพของกล้องสูงขึ้นอีกระดับจาก Galaxy S3
  • ฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันกล้องมีเยอะ
  • ถอดแบตเตอรีได้

ข้อเสีย

  • วัสดุไม่พรีเมียมอย่าง HTC One หรือ Xperia Z
  • การออกแบบแม้ว่าจะไม่เหมือน S III เสียทีเดียว แต่อารมณ์และความรู้สึกมันใช่เกินไป
  • การถ่ายภาพด้วยมือเดียวทำได้ยาก
  • แบตเตอรี่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 1 วัน (รอการอัปเดท Firmware)

 สรุป

Galaxy S4 คือ Galaxy S3 ที่เสร็จสมบูรณ์แบบแล้ว และน่าจะเป็นสมาร์ทโฟนในตระกูล Galaxy ที่ดีที่สุดที่ซัมซุงเคยทำมา ตัวเครื่องมีความสามารถที่เพียบพร้อมทั้งแง่ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ถึงแม้ว่าฟีเจอร์ของเครื่องจะเยอะจนเฝือไปก็ตาม แต่ด้วยความที่แบรนด์ ‘ซัมซุง’ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดแมสไปแล้ว ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม Galaxy S4 มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะประสบความสำเร็จเกือบๆ จะ 100% ด้วยซ้ำ

เพียงแต่ว่าถ้าอยากจะให้ถูกใจผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องของวัสดุประกอบงานก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกมองข้ามไปเช่นกัน

และที่สำคัญการมาของ Galaxy S4 ย่อมทำให้ตัวเลือกในตลาดสมาร์ทโฟนซึ่งแต่เดิมมีแค่ HTC ที่มี HTC One ฝั่ง Sony ที่มี Xperia Z และ iPhone 5 จากแอปเปิล แน่นอนผู้บริโภคจะมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างเต็มที่